มูลค่าการส่งออกผ่านแดนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ผ่านด่านหนองคาย เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

มูลค่าการส่งออกผ่านแดนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ผ่านด่านหนองคาย เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

View icon 167
วันที่ 3 ก.พ. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด ปี 2566 มูลค่าการส่งออกผ่านแดนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ผ่านด่านหนองคาย เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

ทางรถไฟความเร็วสูงสายจีน-ลาวเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน และโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative: BRI) มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีระยะทางรวม 1,035 กม. โดยเป็นระยะทางในสปป. ลาว เท่ากับ 414 กิโลเมตร

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่ารถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทางราง ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลาจากนครคุนหมิงมาถึงจังหวัดหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิงถึงเชียงของ จังหวัดเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และต้นทุนการขนส่งทางรถไฟถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า โดยความเร็วขนส่งผู้โดยสารเท่ากับ 160-180 กม.ต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วขนส่งสินค้าไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง

เส้นทางรถไฟดังกล่าวสามารถลำเลียงสินค้าและผู้โดยสารจากจีนตอนใต้ ผ่านลาวมาถึงไทย โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง-อวี้ซี-ผูเอ่อร์-สิบสองปันนา-โม่หาน-บ่อเต็น-หลวงน้ำทา-อุดมไซ-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทน์ ซึ่งนครหลวงเวียงจันทน์ถือเป็นสถานีปลายทาง ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียงแค่ 24 กิโลเมตร ที่สำคัญทางรถไฟสายนี้เป็นสายแรกในสปป. ลาวที่เชื่อมลาวออกสู่ทะเล ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าข้ามแดน ผ่านแดน และ ภายในประเทศโดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะขนส่งสินค้าได้ 1.7 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งเต็มที่ สปป. ลาว จึงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการผลิตและบริการ

อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส การส่งออกผ่านแดนไปจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนด้วยรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวผ่านด่านหนองคายในปี 2566 มูลค่าการส่งออกรวมเกือบ 1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว และในปี 2573 คาดการณ์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นราว 2.7 หมื่นล้านบาท  แนวโน้มสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวสูง อาทิ ผักและผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ยางพารา ข้าว สำหรับตลาด สปป. ลาว ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

ข้อมูลการส่งออกผ่านด่านพรมแดนหนองคาย ปีงบประมาณ 2566 พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด อาทิ ผลไม้อื่นๆ สด น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันที่ได้จากแร่บิทูมินัส เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคล น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม ของที่ใช้บรรจุสินค้าทำด้วยพลาสติก เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าสูงสุด อาทิ พลังงานไฟฟ้า ธาตุเคมีที่โด๊ปแล้วสำหรับใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ไฮโดรเจน แร่ก๊าซและอโลหะอื่นๆ ปุ๋ยที่ได้จากแร่หรือปุ๋ยเคมี สายนาฬิกาของนาฬิกาชนิดวอตช์และส่วนประกอบ หลอด ท่อและโพรไฟล์กลวงอื่นๆ เครื่องโทรศัพท์ สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์ เป็นต้น ตัวอย่างสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกผ่านรถไฟสูงสุด 3 อันดับแรก  (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2566) คือ ทุเรียน เม็ดพลาสติก และมังคุด สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าผ่านรถไฟสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ปุ๋ย ผักสด และพัดลม มอเตอร์  (หมายเหตุ: 1 TEU เท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต)

“การท่องเที่ยวเชื่อมไทย สปป. ลาว และจีนแนวโน้มมากขึ้น”  ทั้งนี้สถานีต้นทางของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ มณฑลยูนนาน มณฑลเสฉวน มณฑลกุ้ยโจว มณฑลฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยประมาณ 2.5 ล้านคน จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างน้อยราว 4,685 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสามารถเชื่อมการเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคอื่นๆ ของประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้มองว่าอานิสงส์จากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ซึ่งกันและกันระหว่างจีนและไทย สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการซึ่งจะมีผล 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ยิ่งปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านแดนทางรถไฟและทางบกได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการเดินทางทางอากาศยาน  นอกจากนี้ภาคบริการ ทั้งการท่องเที่ยว กลุ่มบริการสุขภาพ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและโรงแรม กลุ่มสถานศึกษาและภาคการขนส่งโลจิสติกส์มีโอกาสขยายตัวมากขึ้นต่อเนื่อง

การส่งออกนำเข้าสินค้าและการท่องเที่ยวผ่านด่านหนองคายทั้งทางรางและทางบกเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มีโอกาสขยายตัวสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง