สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 590
วันที่ 11 ก.พ. 2567 | 20.03 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 18.45 น. วานนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังด้านหน้าพระอุโบสถ วัดสัมพันธวงศาราม ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระประธานพระอุโบสถ โดยเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งระหว่างการทอดพระเนตรสถานที่สำคัญ และร้านค้าบนถนนเยาวราช เนื่องในงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2567

วัดสัมพันธวงศาราม เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามว่า "วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร" สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

โอกาสนี้ ทรงเปิด "ตึกพุ่มเทียนประสิทธิ์" เดิมเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของอุบาสิกาพุ่ม เทียนประสิทธิ์ ที่ต้องการส่งเสริมพระพุทธศาสนา เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและไม้ หลังคาทรงปั้นหยา ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในปี 2530 มีพระสงฆ์และสามเณรเข้ามาศึกษาจำนวนมาก ทำให้สถานที่เริ่มคับแคบ จึงต้องย้ายการเรียนการสอนไปที่อื่น ส่งผลให้ตึกแห่งนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา

ในปี 2563 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เพื่อเป็นหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองด้านการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สำคัญของวัด ต่อมาปี 2565 คณะกรรมการวัด ร่วมกับทายาทของอุบาสิกาพุ่ม เทียนประสิทธิ์ กรมศิลปากร และผู้มีจิตศรัทธา ได้ดำเนินโครงการบูรณปฎิสังขรณ์ "ตึกพุ่มเทียนประสิทธ์" เพื่อฟื้นคืนสภาพเดิม สำหรับเป็นที่ศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ประวัติของวัด และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขตสัมพันธวงศ์ที่สำคัญในอดีต เช่น ย่านวัดเกาะ, ย่านสำเพ็ง, ย่านเยาวราช และย่านตลาดน้อย ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนา

จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งทอดพระเนตรร้านค้าต่าง ๆ บนถนนเยาวราช สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการขนานนามว่า ถนนมังกร เป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ตลอดสองข้างทางมีประชาชน ผู้แทนหน่วยงาน และห้างร้านต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก เช่น ร้านขายยาจีน เซี้ยงเฮงฮั้วกี่ จำหน่ายยาจีนแผนโบราณมานานกว่า 30 ปี ที่ยังคงรักษาวิธีปรุงยาแบบดั้งเดิม, ธนาคารกสิกรไทย สาขาเยาวราช และร้านทองจินฮั่วเฮง เป็นร้านทอง ที่มีวิสัยทัศน์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่วงการค้าทองคำของไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านทอง แสดงให้เห็นว่า ทองคำ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ หรือเครื่องมือสำหรับการลงทุน แต่ทองคำยังเป็นวัตถุที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีของสังคม และถนนสายนี้ เป็นแหล่งซื้อทองคำ ซึ่งเป็นที่นิยม และมีความน่าเชื่อถือในประเทศไทย จนได้ชื่อว่าถนนสายทองคำ ซึ่งมีร้านทองชั้นนำอยู่สองฝั่งถนน ตลอดสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน มีประชาชนจำนวนมาก รอเฝ้าทูลละออง พระบาทรับเสด็จ ทั้งสองฝั่งถนน และส่งเสียงทรงพระเจริญตลอดเส้นทาง

จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีน สร้างขึ้นเมื่อปี 2414 สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย สถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ

ในการนี้ ทรงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ พระศรีอริยเมตไตรย (พระสังกัจจายน์), พระประธานในพระอุโบสถ 3 องค์ ประกอบด้วย พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธเจ้า และพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ เปรียบเหมือนพระรัตนตรัยของฝ่ายมหายาน และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาเทพคุ้มครองชะตาชีวิต (ไท่ส่วยเอี๊ย) เทพเจ้าไภษัชยราช และเทวแพทย์ฮั่วโต๋ (ฮั่วท้อ)

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายร้านน้ำเต้าทองแห่งใหม่ ของบริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2444 รู้จักกันในนามของยาขมน้ำเต้าทอง "ซังโฮ่วโล้วเลี่ยงเต๊" เป็นตำรับสมุนไพรของชาวจีนตอนใต้ ที่มีประวัติการใช้ยาวนานกว่า 200 ปี รับประทานเพื่อแก้ร้อนใน แก้ไข้ กระษัย และทำให้เจริญอาหาร เริ่มธุรกิจโดยนำเข้าวัตถุดิบจากทางตอนใต้ของจีน และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปออกจำหน่ายหลากหลายขึ้น โดยควบคุมมาตราฐานอย่างมีคุณภาพ เพื่อผลิตสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ต่อคนไทย

เวลา 18.38 น. วันนี้ เสด็จพระราชดำเนินไปเมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในการพระราชทานเพลิงศพ นายเตียบ สุจริตกุล อดีตรองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งถึงแก่กรรมเนื่องจากภาวะถุงน้ำดีอักเสบติดเชื้อ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 สิริอายุ 98 ปี

นายเตียบ สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2466 เป็นบุตรของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) กับ คุณหญิงเชิด อุดมราชภักดี (เชิด ไกรฤกษ์) ได้รับเกียรติสูงสุดให้ถวายงานเป็นผู้อัญเชิญพระธำมรงค์รัตนวราวุธ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์มงกุฎไทย จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก และตติยจุลจอมเกล้า สืบตระกูลพระยาอุดมราชภักดี

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ได้ไปศึกษาต่อทางด้าน Shipping ที่ London School of Foreign Trade ประเทศอังกฤษ แล้วเข้ารับราชการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2496 ในตำแหน่งพนักงานบริหารและเลขานุการคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย จนเกษียณอายุในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ เมื่อปี 2526 โดยระหว่างรับราชการได้ศึกษาหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 19 ด้วย ด้านครอบครัว สมรสกับนางสาวงามเฉิด อนิรุทธเทวา มีบุตรธิดา 2 คน และสมรสกับนางสาวกุณฑล วสันตสิงห์ มีบุตรธิดา 2 คน

ข่าวอื่นในหมวด