สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปัว อําเภอเชียงคํา จังหวัดพะเยา

View icon 1.4K
วันที่ 12 ก.พ. 2567 | 20.08 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 13.42 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปัว อําเภอเชียงคํา จังหวัดพะเยา ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายมูลนิธิสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ในพระราชูปถัมภ์ฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ ควบคู่กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความสมดุลให้กับระบบนิเวศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บ้านปัว เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีชาวบ้านอพยพมาจากอำเภอปัว จังหวัดน่าน มาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ เพราะเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ ดินดี และต้นไม้ ปัจจุบัน มีประชากร 430 คน 113 ครัวเรือน ในอดีตเกษตรกรมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก เมื่อเข้าร่วมอบรมกับทางเครือข่ายมูลนิธิฯ ทำให้ปัจจุบันคนในชุมชน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี หันมาส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลงานของเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ 17 จังหวัด อาทิ ศูนย์เรียนรู้บ้านสถาน 2 ชุมชนไทลื้อ สินค้าที่นิยม คือ ผ้าทอไทลื้อ เริ่มตั้งแต่ปลูกต้นฝ้าย ปั่นฝ้าย และพัฒนาเพิ่มสี เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของตลาด จนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง, ศูนย์การเรียนรู้บ้านบัว จุดเด่นคือ ป่าไผ่ มีการแปรรูปไผ่ โดยจักสานเข่ง สุ่มไก่ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และการทำนาข้าวอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้นำส่งขายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และศูนย์การเรียนรู้บ้านปัว จัดแสดงฟาร์มเห็ด เพาะเห็ดนางนวลสีชมพู มีรสชาติดี ไม่เหนียว เป็นที่ต้องการของตลาด และยังส่งเสริมความรู้ให้กลุ่มแม่บ้าน และผู้สนใจ แปรรูปเป็นน้ำพริกเห็ด และแหนมเห็ด

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรภายในศูนย์ฯ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันปลูกผักปลอดภัยตามแนวถนน และในพื้นที่หมู่บ้าน มีผลผลิตตลอดปี จำหน่ายและนำรายได้สมทบทุนศูนย์การเรียนรู้ฯ สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้าน ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นชุมชนเข้มแข็ง ปลอดภัยจากยาเสพติด และสร้างแรงบันดาลใจให้คนจากชุมชนอื่นศึกษา และนำไปต่อยอด

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการทำปุ๋ยหมัก ของกลุ่มบ้านปัวมีรัก โดยทำน้ำหมักจากปลาและหอยเชอรี่ มีกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น เช่น แกลบขุยมะพร้าว และมูลวัว มีหมอดินประจำหมู่บ้านให้คำแนะนำ ถ่ายทอดสู่สมาชิกและผู้สนใจ

นิทรรศการศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงภาคเหนือ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียงหนองปลิง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ส่งเสริมการปลูกโรงผักสร้างสุขในชุมชน เพื่อบริโภคในครัวเรือน หากเหลือจึงแบ่งขายสร้างรายได้, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบุญแจ่ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่าง ๆ เพาะเห็ดตับเต่า ร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อะโวคาโด และผักกูด เพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาการเผาป่า และเข้าไปเก็บเห็ดในป่า ปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ สมาชิก 30 ครัวเรือน มีรายได้จากการขายเห็ดตับเต่า กิโลกรัมละ 250-300 บาท และผักกูด กิโลกรัมละ 50 บาท, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านผารังหมี อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถรางเที่ยวชมแปลงข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 บนพื้นที่กว่า 2,800 ไร่ และชมสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง รวมทั้งงานหัตถกรรมพื้นบ้าน มีบ้านพักโฮมสเตย์ให้บริการนักท่องเที่ยว เพื่อสัมผัสบรรยากาศและเรียนรู้วิถีชุมชน และเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์จังหวัดสุโขทัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต รวบรวมสินค้าการเกษตรตามมาตรฐานอินทรีย์ และการตลาดแก่เกษตรกรในจังหวัดสุโขทัย

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทอดพระเนตรผลิตผลทางเกษตรของราษฎร โดยทุกวันจะมีเกษตรกรนำพืชผักปลอดสารพิษที่ปลูกมาจำหน่ายยังตลาดชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ได้บริโภคสินค้าคุณภาพ ในราคาถูกกว่าท้องตลาด สร้างรายได้ให้ครอบครัว และยังสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่นในหมวด