สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดพิษณุโลก

View icon 3.2K
วันที่ 13 ก.พ. 2567 | 20.06 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.30 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ทอดพระเนตรโครงการทหารพันธุ์ดี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับกองทัพบก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อให้ทหารเกณฑ์ที่มีความสนใจมีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการปลูกผักปลอดภัย ละเว้นการใช้สารเคมี เมื่อปลดประจำการจะพระราชทานเมล็ดพันธุ์ให้นำกลับไปปลูกที่บ้าน และชักชวนเพื่อนบ้านปลูก เป็นการขยายความรู้ออกสู่ชุมชน เพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน  

ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 ตั้งโครงการทหารพันธุ์ดี เมื่อปี 2560 โดยรับสนองพระราชดำริ อาทิ ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 โดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยวิธีอินทรีย์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ที่ผลิตโดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกข้าวแบบอินทรีย์แก่ประชาชน และกำลังพล

ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน ในพื้นที่ 443 ไร่ พบปัญหาดินเป็นกรด มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ต้องใช้ปุ๋ยพืชสด จัดรูปแปลงนาให้เก็บกักน้ำได้ดีขึ้น การทำปุ๋ยหมัก ปลูกหญ้าแฝก จนเนื้อดินมีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น และมีการตรวจสอบบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร

ส่วนโครงการตำรวจพันธุ์ดีจังหวัดพิษณุโลก เริ่มเมื่อปี 2565 ที่สถานีตำรวจภูธรวัดโบสถ์ ในพื้นที่ 41 ไร่ โดยเข้าอบรมที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นำพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ที่ได้พระราชทานมาขยายผลต่อ ผลผลิตนำมาประกอบอาหารกลางวันตามโครงการครัวปันสุข ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่ และจะส่งเสริมต่อยอดให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรที่ถูกต้อง

โอกาสนี้ พระราชทานข้าวสารปทุมธานี 1 แก่ผู้แทนกองทัพบก, ข้าวสารหอมมะลิ แก่แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อโครงการทหารพันธุ์ดี "ชุมชนเบิกบานอาหารปลอดภัย", เมล็ดพันธุ์พืชแก่ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 และผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดพิษณุโลก

จากนั้น ทอดพระเนตรศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีพระราชดำริให้หน่วยทหารเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดพื้นเมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อพระราชทานแก่ราษฎร และเป็นที่ศึกษาดูงานให้นำไปประยุกต์ใช้ และสร้างรายได้ โดยผลิตพันธุ์ปลานิลจิตรลดาพระราชทาน ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน ได้พระราชทานไปแล้วกว่า 7.9 ล้านตัว มีหน่วยงานมาศึกษาดูงานกว่าหมื่นคน และยังจัดทำข้อมูลการวางไข่ในบ่อเลี้ยงแต่ละชนิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์

โอกาสนี้ ทรงเปิดศูนย์พันธุ์กบพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 104 กรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 รับพ่อแม่พันธุ์กบ จากศูนย์ผลิตพันธุ์กบพระราชทาน มณฑลทหารบกที่ 38 จังหวัดน่าน คือ กบนาทุ่งกุลา, กบนาจานนา, กบนาพิษณุโลก และสายพันธุ์ไขว้ 6 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เหมาะ คือ แม่พันธุ์จานนา กับพ่อพันธุ์พิษณุโลก สามารถผลิตพันธุ์กบโดยนำไปพระราชทานแก่ประชาชน หน่วยราชการ กำลังพล และโรงเรียนในโครงการทหารพันธุ์ดี ชุมชนเบิกบาน อาหารปลอดภัย กว่า 71,000 ตัว ปีนี้ ตั้งเป้าที่จะขยายพันธุ์ 4 รอบ คาดว่าจะได้ผลผลิต 470,000 ตัว 

ส่วนศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ไก่พันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ ไก่พันธุ์เหลืองหางขาว โดยผลิตลูกไก่พระราชทานแก่กำลังพล 318 ครัวเรือน 1,590 ตัว

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนทหารพันธุ์ดี ซึ่งกองทัพภาคที่ 3 จัดกำลังพลเข้ารับการอบรมการปลูกพืชเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ปี 2560 และนำความรู้มาถ่ายทอดให้กำลังพล เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช และการปลูกผักแบบอินทรีย์เพื่อขยายผลไปสู่ครอบครัวกำลังพล และประชาชน

ส่วนศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีพระราชดำริให้จัดทำโครงการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชสำรองพระราชทานแก่ราษฎร โดยกองพันซ่อมบำรุงที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์ผักสำรอง 10 ชนิด พระราชทานแล้วกว่า 227,000 ซอง

การขยายเครือข่ายทหารพันธุ์ดี นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในแปลงเกษตรของครอบครัวกำลังพล ซึ่งปลูกพริกและดาวเรือง จำหน่าย ทั้งยังขยายผลไปสู่โรงเรียน โนโครงการชุมชนเบิกบานอาหารปลอดภัย มีการปลูกผักพันธุ์ดี และต่อยอดเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ดี ขยายผลไปสู่บ้านนักเรียน

ศูนย์ผลิตไม้ผล "เพื่อนช่วยเพื่อน" ภาคเหนือ มีพื้นที่หลัก 9 ไร่ ปลูกมะม่วง 28 สายพันธุ์ และพื้นที่ส่วนขยาย 30 ไร่ ปลูกมะม่วง เพิ่มอีก 38 สายพันธุ์ ขยายพันธุ์ไปแล้ว 1,174 ต้น คาดว่าเดือนตุลาคมปีนี้ จะนำต้นกล้ามะม่วงที่ได้แจกจ่ายประชาชน

โครงการฟาร์มภูมิใจสวนสมุนไพร ปัจจุบันปลูกพืชสมุนไพรหายากกว่า 400 ชนิด พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสุขภาพ เช่น ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันนวด 8 เซียน ชารางจืดใบเตย และน้ำกระชาย

โครงการปลูกผักปลอดภัย กองพันทหารขนส่งที่ 23 กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 ปลูกผักอินทรีย์ เช่น กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักสลัด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ในพื้นที่ 56 ไร่ ส่งผลผลิตให้โรงคัดบรรจุสินค้าทางการเกษตร กองทัพภาคที่ 3 จำหน่ายสู่ตลาดชุมชนในราคาถูก และแจกจ่ายชุมชนรอบค่ายฯ

ส่วนโครงการเลี้ยงแพะพระราชทานพันธุ์แบล็คเบงกอล ในโครงการผลิตแพะพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" พื้นที่ภาคเหนือ ขยายพันธุ์แพะพระราชทานแก่ประชาชนผู้ยากไร้ และกำลังพล ที่มีความประสงค์จะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ปัจจุบันมีแพะในโครงการ 134 ตัว และพระราชทานไปแล้ว 321 ตัว ในการนี้ พระราชทานชื่อลูกแพะเพศเมีย ฝาแฝดว่า "กิริยา" และ "มารยาท"

จากนั้น ทอดพระเนตรวิดีทัศน์ การฝังไมโครชิพในแพะ แทนการเจาะหูสำหรับใส่แผ่นจำนวนตัวเลข โดยไมโครชิพจะใส่ข้อมูลพื้นฐาน การรักษา และประวัติ และทอดพระเนตรการแสดงรวมพลแพะ ซึ่งใช้เวลาฝึก 1 เดือน ฝึกจากการใช้เสียงเรียก ในช่วงเวลาเดิมทุกวัน โดยให้หญ้า หรือข้าวเกรียบเป็นรางวัล และฝึกควบคู่กับการใช้เสียงแตร และเสียงเรียกเป็นสัญญาณ จนแพะเกิดความเคยชิน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสชื่นชมการดำเนินโครงการ ซึ่งมีการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่เป็นที่นิยมในพื้นที่ มีคนมาศึกษาดูงาน และขอพันธุ์ปลา พันธุ์พืชไปปลูกในพื้นที่ของตน ซึ่งมีทหารไปดูให้คำแนะนำเพิ่มเติม

เวลา 15.14 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง พระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง ประจำปี 2561 - 2565 ของเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 9 ได้แก่ พิษณุโลก, น่าน, พิจิตร, เพชรบูรณ์, แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่อแสดงความขอบคุณ เชิดชูเกียรติผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และยกย่องหน่วยงานผู้สนับสนุนการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยพระสงฆ์ รับเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง 23 รูป และ 108 ครั้ง 118 รูป, ผู้บริจาคโลหิต 100 ครั้ง รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 จำนวน 55 คน, ผู้แทนหน่วยงาน สนับสนุนการบริจาคโลหิต รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ 46 คน, ผู้บริจาคโลหิต รับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิต ครบ 36 ครั้ง 1,218 คน และ 108 ครั้ง 118 คน

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดหาโลหิตบริจาค โดยมีเหล่ากาชาดจังหวัด และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ โดยปี 2567 จัดทำโครงการ "ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ Give Blood, Give lives, Give forever" เป็นโครงการหลักประจำปี เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงาน ในการรณรงค์ให้มีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มจำนวนผู้บริจาคโลหิตรายใหม่

ข่าวอื่นในหมวด