ผลกระทบมาตรการ EUDR ต่อสินค้าเกษตรไทย

ผลกระทบมาตรการ EUDR ต่อสินค้าเกษตรไทย

View icon 199
วันที่ 10 มี.ค. 2567 | 10.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรไทยภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และจะมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 มีผลต่อกลุ่มสินค้าเกษตร จำพวก โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โค และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้

EUDR (EU Deforestation Regulation) คือ กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป มาตรการ EUDR ใช้กับผู้ประกอบการ (Operators) และผู้ค้า (Traders) ที่จะวางจำหน่ายสินค้าในตลาดอียู โดยสินค้าต้องผ่านเงื่อนไข 3 ข้อ คือ (1) สินค้าต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า (2) สินค้าต้องมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ (3) ต้องมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence) ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่หนึ่ง การรวบรวมข้อมูลของสินค้า เช่น รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต พิกัดภูมิศาสตร์ของที่ดินที่ใช้เพาะปลูก ข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าไม่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และข้อมูลที่ยืนยันว่าสินค้าผลิตถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต ส่วนที่สอง การประเมินความเสี่ยงบนพื้นฐานของข้อมูล และส่วนที่สาม การลดความเสี่ยงมาให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้กำหนดขอบเขตและกรอบเวลาการบังคับใช้ EUDR ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“ขอบเขตสินค้า” ในระยะแรก EUDR บังคับใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์  7 กลุ่ม ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ (Derived products) เช่น ยางรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ เครื่องหนังสัตว์ ภายใต้กฎหมาย EUDR (Regulation (EU) 2023/1115) อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปจะทบทวนรายการสินค้าทุกๆ 2 ปี และจะขยายขอบเขตการบังคับใช้ให้ครอบคลุมรายการสินค้ามากขึ้นในอนาคต

กฎหมาย EUDR มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แต่สหภาพยุโรปได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจนกว่าจะเริ่มนำกฎหมายมาสู่การปฏิบัติ (Entry into application) สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ (Large operators and traders) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และให้เวลาปรับตัวเพิ่มเป็น 2 ปี ก่อนจะนำมาใช้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออกรายย่อย “ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568”

“ผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย” ในปี 2565 ไทยมีการส่งออกสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ EUDR ไปสหภาพยุโรป รวมมูลค่า 724.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.34 จากปีก่อนหน้า หากเรียงตามมูลค่าการส่งออกสูงสุด ดังนี้ อันดับ 1 คือ ยางพารา 657.02 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 คือ ไม้ 43.11 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 3 คือ ปาล์มน้ำมัน 21.39 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 4 คือ โกโก้ 2.89 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 5 คือ กาแฟ 0.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และ อันดับ 6 คือ ถั่วเหลือง 0.002 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนวัวเป็นสินค้าที่ไทยไม่มีการส่งออกไปอียู

หลังจากมาตรการ EUDR มีผลบังคับใช้หลังปลายปี 2567 นี้คาดว่าจะมีผลกระทบต่อสินค้าเกษตรหลัก คือ ผู้ประกอบการสินค้ายางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมันเป็นกลุ่มแรก จากข้อมุลวิจัยกรุงศรีชี้ให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 90 ของสินค้าส่งออกสินค้า EUDR ของไทยไปสหภาพยุโรป คือ สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ไทยยังพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปในการส่งออกยางถึงร้อยละ 11.5

“ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนตามที่กำหนด” เงื่อนไขและขั้นตอนการตรวจสอบ Due Diligence ของสินค้าที่กำหนดข้างต้น จะบังคับใช้กับ (1) กลุ่มผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก และ (2) กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ในสหภาพยุโรป เช่น ร้านขายปลีกขนาดใหญ่ ในขณะที่กลุ่มผู้ค้ารายย่อย แม้ไม่จำเป็นตัองจัดทำรายงาน Due Diligence แต่ต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับห่วงโซ่การค้า รวมถึงหมายเลขอ้างอิงรายงาน Due Diligence จากซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรายงานเมื่อมีการร้องขอ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบลงทะเบียนที่สามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานรองรับมาตรการ EUDR ได้แก่ ระบบลงทะเบียนแหล่งปลูกไม้ ผ่านแอปพลิเคชันอี-ทรี (e-TREE) ของกรมป่าไม้ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Rubber Authority of Thailand (RAOT) GIS) ของการยางแห่งประเทศไทย

มาตรการ EUDR เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ผู้ประกอบการไทยต้องติดตามและลงทะเบียนเพื่อรับรองแหล่งปลูกไม้ตามที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปกำหนดสำหรับสินค้าเกษตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง