สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี

View icon 271
วันที่ 13 มี.ค. 2567 | 20.03 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.08 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2533 มีพื้นที่ดําเนินการกว่า 20,000 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระฤาษี-เขาบ่อแร่ ในลักษณะบูรณาการ ภายใต้หลัก "บวร" บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมพัฒนาพื้นที่ จัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสาธารณประโยชน์ และพัฒนารูปแบบการประกอบอาชีพ ที่ไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม สร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ตนเองและครอบครัว อย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อาทิ กรมป่าไม้ บริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อใช้ดําเนินโครงการฯ จัดสรรที่ดิน ออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ และยังอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า จัดกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับชุมชน, ส่วนกรมชลประทาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำให้ราษฎรได้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร 5 แห่ง รวมความจุกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้ในกิจกรรมของวัดในพื้นที่โครงการ มีวัดถ้ำวังหิน เป็นศูนย์กลางเผยแผ่หลักธรรม และการพัฒนาชุมชน โดยยึดหลัก บวรในการขับเคลื่อนตามแนวทางพระราชดําริ

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนในโครงการฯ ประกอบด้วย โรงเรียนประชามงคล นำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนกลางแจ้ง ในฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด ปลูกผัก เกษตรแบบผสมผสาน และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนและที่บ้าน มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น คุกกี้เห็ด และเห็ดสวรรค์ จำหน่ายที่สหกรณ์โรงเรียนฯ ด้านการศึกษา ผลทดสอบระดับชาติ O-NET และ V-NET ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ, โรงเรียนบ้านเขาแหลม ร่วมกิจกรรมห้องเรียนกลางแจ้ง อาทิ การเกษตรเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนฯ เช่น ปลูกผักกางมุ้ง ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้ในโครงการอาหารกลางวัน, การทำปุ๋ยอินทรีย์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนการประเมินความสามารถด้านการอ่าน หรือ RT ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และผลการทดสอบ NT สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ, โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 15 (บ้านม่วงเฒ่า) นำนักเรียนเข้าค่ายพักแรมเพื่อเรียนรู้ประวัติโครงการฯ และทัศนศึกษาโครงการตามพระราชดำริ เพื่อนำไปปรับใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน อาทิ การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน เพื่อไว้จำหน่าย และใช้ประกอบอาหารกลางวัน ทั้งยังนำไปแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเห็ด, การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์, เลี้ยงปลา และสอนให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนให้เข้าร่วมการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรม ในปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลรวม 102 รายการ ด้านการศึกษา ผลการทดสอบ RT และ NT ได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ, ผลการทดสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ และผลการทดสอบ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 

ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลสถานพระบารมี ตรวจรักษาประชาชนในตำบลสมเด็จเจริญ และใกล้เคียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ดำเนินกิจกรรมในโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในฯ ด้านการดูแลรักษาโรค เช่น โครงการตรวจคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิต และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, ด้านการบำบัดฟื้นฟู เช่น โครงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น โครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเชิงรุก และโครงการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในเกษตรกร เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

ส่วนด้านการพัฒนาชุมชน มีการส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มทอผ้าในชุมชนกะเหรี่ยงป่าคู้ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาต่อยอดเป็นรายได้เสริม จำหน่ายภายในชุมชน ตำบล อำเภอ และงานประจำปีของกะเหรี่ยง ลายผ้าส่วนใหญ่เป็นลายพื้นเมือง เช่น อุงก้วยลิ, อุงเปา และสตุงเก๋

จากนั้น ทอดพระเนตรจุดสาธิตฐานการเรียนรู้โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมี 8 ฐาน ได้แก่ ฐานอุปกรณ์พลังงานทดแทน ให้ความรู้ด้านพลังงาน อาทิ เตาเผาถ่าน ถัง 200 ลิตร ใช้ผลิตถ่าน ช่วยลดการใช้ไฟฟ้าและแก๊ส ได้น้ำส้มควันไม้ ใช้ไล่แมลงศัตรูพืช สามารถลดต้นทุนในครัวเรือนได้ 400 บาทต่อเดือน, ฐานเลี้ยงไก่พื้นเมือง ส่งเสริมให้เลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์เขียวห้วยทราย ซึ่งให้ผลผลิตเร็ว แข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม นอกจากบริโภคแล้ว ยังนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม โดยนำแหนแดงมาเลี้ยงไก่ ซึ่งในปี 2566 มีเกษตรกร 159 ราย เลี้ยงไก่กว่า 85,000 ตัว

ฐานเลี้ยงไก่ไข่แบบยืนกรง พันธุ์ไฮไลน์บราวน์ ให้ผลผลิตสูง ใช้เวลาเลี้ยง 14 เดือน ให้ผลผลิตตัวละ 350-400 ฟอง ปัจจุบันเกษตรกรเลี้ยงไก่ 20 คน มีแม่ไก่ 84,000 ตัว สร้างรายได้ให้อย่างยั่งยืน, ฐานการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งดินในโครงการฯ เป็นชุดดินมวกเหล็กและชุดดินวังสะพุง ควรจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำให้เหมาะสมกับความลาดชัน และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับโครงสร้างดิน เพิ่มธาตุอาหาร เพิ่มผลผลิต และจัดระบบการปลูกพืชให้เหมาะสม รวมทั้งปลูกหญ้าแฝก

ฐานเกษตรผสมผสาน มีเกษตรกร 356 ครัวเรือน มีพื้นที่ 4,554 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล ไม้ดอก ข้าว พืชผัก และอ้อย รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการเกษตร เช่น การจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรแก่นักเรียนโรงเรียนประชามงคล มีสมาชิก 20 ราย, ฐานเลี้ยงปลาดุก หอยขม และกบ สำนักงานประมงจังหวัดกาญจนบุรี ส่งเสริมการเลี้ยงปลาดุก และกบ ปีละ 2 รุ่น และหอยขม ปีละ 5 กิโลกรัมต่อปี ผลผลิตนำไปจำหน่าย เพื่อนำเงินไปซื้ออาหาร และพันธุ์สัตว์น้ำไปเลี้ยงในรอบต่อไป ที่เหลือบางส่วนนำไปแปรรูปเป็นปลาดุกแดดเดียว

ฐานการเลี้ยงหมูหลุม เกษตรกรในโครงการเลี้ยงหมูหลุม 5 ราย หมู 64 ตัว มีรายได้จากการจำหน่ายหมู แล้วยังจำหน่ายะปุ๋ยมูลหมูด้วย เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้, ฐานการเลี้ยงแพะ ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะเนื้อ 84 ราย จำนวน 3,222 ตัว เป็นแพะพันธุ์บอร์ มีรายได้จากการจำหน่ายเนื้อแพะ กิโลกรัมละ 100 บาท จำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ ตัวละ 4,500 บาท

โอกาสนี้มีพระราชดำรัสแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแนวทางในการปฎิบัติหน้าที่

ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณทรงมีต่อราษฎรในจังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียง

ข่าวอื่นในหมวด