พื้นที่อุทยานฯ ทับซ้อน ส.ป.ก. ทั้งหมด 5.2 แสนไร่ ให้ One Map ชี้ขาด

พื้นที่อุทยานฯ ทับซ้อน ส.ป.ก. ทั้งหมด 5.2 แสนไร่ ให้ One Map ชี้ขาด

View icon 306
วันที่ 9 เม.ย. 2567 | 16.18 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมอุทยานฯ หารือ ส.ป.ก. พบพื้นที่ทับซ้่อน 520,000 ไร่ รอ One Map ชี้ขาด ย้ำคนทำผิดถูกดำเนินคดีแล้ว ยืนยันเป็นที่บุคคล ไม่ใช่องค์กร

วันแมป วันนี้(9 เม.ย.2567) เมื่อเวลา 14.00 น. นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (รองเลขาฯ ส.ป.ก.) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายหลังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำขึ้น ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดยทั้งสองกระทรวงตกลงกันเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา เรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ และมีข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกัน คือ
1. ประเด็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งสองกระทรวงตกลงกันให้นำเข้าสู่การพิจารณาเรื่องแนวเขตที่ดินที่คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(สคทช.) พิจารณาเพื่อหาข้อยุติต่อไป
2. กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดส่งข้อมูลแผนที่ในรูป Shape File แสดงพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการทับซ้อน พื้นที่ที่ควรแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน หรือควรสงวนไว้ตามหลักวิชาการทางทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า (Corridors) พื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายและพื้นที่แนวป่ากันชน รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การจัดที่ดินให้ราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่คาดว่าเป็นปัญหาทับซ้อนกับสำนักงาน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้แก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหา การอยู่อาศัยและทำกิน หรืออนุรักษ์ไว้โดยไม่จัดสรรให้ประชาชน ภายใน 30 วัน
3. ให้ความร่วมมือสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการแต่งตั้งคณะทำงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในแต่ละจังหวัด โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่กำกับดูแลที่ดินที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน รวมทั้งผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้
4. กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ กรมทะเลฯ และ ส.ป.ก. ให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อมูลเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งสนับสนุนการจัดที่ดินให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ต่อไป

นายวีระ  กล่าวว่า กรมอุทบยานฯ และ ส.ป.ก. ทำงานร่วมกันแม้อยู่คนละกระทรวงก็ตาม โดยตั้งคณะทำงานเพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนแก้ไขปัญหา นำเอาแผนที่ของแต่ละหน่วยงานมาทับซ้อนกัน พบว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ประกาศตามราชกิจจานุเบกษา 291 แห่ง ซ้อนทับกับพื้นที่ ส.ป.ก.190 แห่ง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 520,000 ไร่ ซึ่งต้องจัดการให้ถูกต้องว่าไปซ้อนทับกันอย่างไร จะบริหารจัดการด้วยกฎหมายไหน ต้องดูว่าออกเอกสาร สปก.ไปแล้วหรือไม่ หากออกไปไม่ชอบก็ต้องดำเนินการเพิกถอน แต่หากออกโดยชอบก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ ก็จะใช้กลไกของ One Map ส่วนกรณีที่ประชาชนมีพื้นที่ ส.ป.ก.เป็นที่ทำกิน หากเป็นที่ป่าอนุรักษ์นั้น มีแนวทางการแก้ไข การเข้าอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่แล้วตาม พ.บ.อุทยานฯ มาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 121 หากอยู่ในเขต ส.ป.ก. ก็ได้สิทธิเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งเป็นพื้นที่ซ้อนทับก็ได้ แต่ในส่วนของป่าอนุรักษ์นั้นจะออกเอกสารไม่ได้ ก็ต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะใช้กฎหมายฉบับใด

สำหรับพื้นที่บัฟเฟอร์โซนและคอร์ริดอร์ เป็นพื้นที่เชิงวิชาการ มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.เช่นกัน ออกเอกสารได้โดยชอบ หากออก ส.ป.ก.ไปแล้ว แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญ เป็นแนวเชื่อมต่อผืนป่า ก็ต้องประชาสัมพันธ์ชาวบ้านว่าจะทำการเกษตรอย่างไรให้เชื่อมแนวผืนป่าได้

ด้านนายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการ กรมอุทยานฯ กล่าวว่า พื้นที่ 520,000 ไร่นั้น เป็นการนำแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกามาซ้อนกัน เห็นสภาพว่าตัวที่ประกาศตามกฎหมายนั้น มีพื้นที่ซ้อนทับกันอยู่ แต่ส่วนนี้ไม่สามารถจบที่คณะทำงานชุดนี้ได้ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ One Map ต้องทำงานให้เสร็จ ทั้งหมดตอนนี้มี 7 กลุ่มที่ สคทช. ทำอยู่ ตอนนี้ทำไปแล้ว 4 กลุ่ม ฉะนั้นต้องได้เขตที่ชัดเจนก่อนว่าเขตใครอยู่ที่ใด ก็ดำเนินการไปตามกฎหมายของตัวเอง ฉะนั้น พื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่ซึ่งต้องแก้ไขตามกฎหมาย แต่ราษฎรจะไม่ได้รับผลกระทบใดใดทั้งสิ้น ส่วนพื้นที่คอร์ริดอร์ ส.ป.ก.ดำเนินการไปแล้ว 90,000 ไร่ บัฟเฟอร์โซนดำเนินการแล้วประมาณ 9.6 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้

ขณะที่นายวัฒนา มังธิสาร รองเลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า กรณีปัญหาเขาใหญ่ สองกระทรวงฯ ทำ MOU ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งตกลงกันแล้วว่าจะเอาข้อมูลแต่ละหน่วยงานมาตรวจดู ส่วนที่ทับซ้อนกันนั้น ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าการประกาศของแต่ละหน่วยงานนั้นเป็นเช่นไร สุดท้ายต้องอาศัย One Map แต่อุทยานฯ และ ส.ป.ก. มาทำงานกันล่วงหน้า และ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้ สคทช. พิจารณาประกอบ เพราะต้องยอมรับว่า พื้นที่ของประเทศไทย มีการบริหารจัดการที่ดินแต่ละช่วงเวลานั้นแตกต่างกัน บริหารจัดการพื้นที่ข้อมูลโดยหน่วยงานที่ต่างกัน จึงต้องมาร่วมตรวจสอบ แต่ต้องอยู่บนหลักฐานข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่ง One Map มีหลักเกณฑ์ 13 ข้อ กรณีพื้นที่ทับซ้อนกัน เมื่อพิสูจน์แล้วจะแบ่งว่าใช้อำนาจตามกฎหมายใด แต่ข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่ยื่นมาพบว่ารวมกันแล้ว มีพื้นที่เกินประเทศไทย เกิน 320 ล้านไร่

ทั้งนี้ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดี กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ประชาชนที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน หรือ สปก.เท่านั้น ยืนยันว่า สปก.มีวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ในส่วนที่ทำไม่ถูก ทุจริต เป็นเรื่องของบุคคล เชื่อว่ามีทุกองค์กร ผู้ที่ไปขีดเส้นทับที่ ส.ป.ก. หรือทับที่ที่ไม่ควรไม่เหมาะสม ก็สมควรถูกดำเนินคดี ย้ำว่าเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ใช่เรื่องขององค์กร