ทนายพัช ยื่นอัยการร่วมสอบเอาผิด ทีมสืบสวนคดีแอมวางยาไซยาไนด์ ชี้ จับกุมไม่ถูกต้อง

ทนายพัช ยื่นอัยการร่วมสอบเอาผิด ทีมสืบสวนคดีแอมวางยาไซยาไนด์ ชี้ จับกุมไม่ถูกต้อง

View icon 29
วันที่ 26 เม.ย. 2567 | 15.33 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย "ทนายพัช" ร่ายยาว 7 ข้อ ชี้ ทีมสืบสวนคดีแอมวางยาไซยาไนด์ จับกุมไม่ถูกต้อง ยื่นอัยการร่วมสอบเอาผิด ลั่น บิ๊กโจ๊ก ต้องรับผิดด้วยกึ่งหนึ่ง

วันนี้ (26 เม.ย.67) น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ หรือ ทนายพัช ทนายความของ แอม จำเลยในคดีวางยาไซยาไนด์ เดินทางเข้าพบ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์ พร้อมพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจทีมสืบสวนที่ทำคดีแอม โดยทนายพัช เผยว่า การร้องเรียนครั้งนี้เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับลูกความ และเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากมีการบังคับใช้กฎหมายมาสักระยะแล้ว แต่การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังไม่ถูกต้อง ส่วนเหตุที่เพิ่งมาร้องเรียน เนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมคดีของแอม ซึ่งปัจจุบันเตรียมคดีสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะพิสูจน์ต่อศาล

สำหรับข้อเท็จจริงสำคัญที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย คือ 1.ช่วงเวลาที่เกิดเหตุกับแอม กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว 2.การกระทำขณะจับกุมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เจตนารมณ์กฎหมายเพื่อมุ่งเน้นให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้ถูกจับกุมไปส่งพนักงานสอบสวนให้เร็วที่สุด แต่ชุดจับกุมกลับพาผู้ถูกจับกุมไปยังสโมสรตำรวจ สนามฟุตบอลเป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและเกิดความอับอาย (แห่นางแมว) 3.การควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งในชั้นจับกุมและชั้นพนักงานสอบสวนจะต้องมีการบันทึกวีดีโอไว้ทั้งหมด แต่ชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนชุดดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย 4.การพูดจาข่มขู่ผู้ต้องหาในขณะที่ตั้งครรภ์ และข่มขู่ไปถึงบุตรของแอม  บุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งในขณะนั้นแอมยังมีการตั้งครรภ์บุตรคนที่สามอยู่ด้วย ยังไม่แท้ง อันเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมายดังกล่าว ถือว่าเป็นการกระทำทางจิตใจ และการกล่อมให้รับสารภาพ ยังถือเป็นจุดประสงค์หลัก เพื่อให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพ โดยไม่คำนึงว่า ต้องรับสารภาพเท่านั้น

5.การปฏิบัติขณะที่ผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ หากมีลักษณะข่มขู่ทั้งตนเองหรือบุคคลอื่น จนทำให้เกิดความกลัวหรือกังวลควรจะต้องตีความว่าเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ด้วยเช่นเดียวกัน 6.ดังที่ตนเคยกล่าวเมื่อวันที่ 5 พ.ค.66ว่า จะเป็นการบูรณาการกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เพื่อให้เป็นรูปธรรม โดยผู้ที่ลงชื่อปฏิบัติงานในบันทึกจับกุม จะต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะการทำงานของตำรวจ ในหลายคดีจะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ลงชื่อปฏิบัติงานจำนวนมาก แต่ตัวไม่อยู่ ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากมีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหาย ผู้ที่มีรายชื่อจะต้องร่วมรับผิดทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติงานของตำรวจนั้นตรงไปตรงมาไม่ใช่ลงชื่อเอาหน้า

7.ผู้บังคับบัญชาที่รู้เรื่องดังกล่าวจะต้องรับผิดตามมาตรา 42 ต้องได้รับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง เพื่อให้เป็นต้นแบบแก่เจ้าพนักงานชุดจับกุม และหากเลื่อมใสในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ย่อมต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ว่ากฎหมายให้มีผลบังคับใช้ โดยร้องทุกข์บุคคลที่มีชื่อหลายรายและรวมถึงผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล ต้องรับผิดตามมาตรา 42 ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา

ท้ายนี้ แอม สรารัตน์ แสดงเจตจำนงสุจริตที่จะใช้สิทธิตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง และยืนยันว่าได้ถูกกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง และทำร้ายจิตใจและเกิดการแท้งบุตรจริง โดยกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติแม้ยามเกิดสงครามจะหยิบยกขึ้นมาอ้างไม่ได้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง