ระดมดับเพลิงไหม้โรงงานกระดาษรีไซเคิล จ.สมุทรสาคร

View icon 32
วันที่ 6 พ.ค. 2567 | 07.02 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - สำหรับสถานการณ์เพลิงไหม้โรงงานกระดาษ ที่ จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากเปลวเพลิงได้ปะทุขึ้นมาอีกรอบ ปรากฏว่าตลอดทั้งวันของเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถระงับเหตุไปได้แล้วกว่า 60% มีรถดับเพลิงจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดมฉีดน้ำเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา คาดว่าจะดับเปลวเพลิงได้เสร็จสิ้นในช่วงเย็นวันนี้ (6 พ.ค.)

ร้อยตรี ประพันธ์ ถึกสกุล นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในฐานะผู้อำนวยการสถานการณ์ เน้นย้ำว่าภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว จะเร่งตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงและประเมินความเสียหาย อีกทั้งยืนยันว่า วัสดุที่ใช้ผลิตกระดาษยังเป็นวัสดุธรรมชาติ แม้จะมีควันที่เกิดจากการเผาไหม้ลอยอยู่ในอากาศ แต่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน

ด้าน นายณัฐวัฒน์ วงศาศิริพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารโรงงาน ประเมินค่าความเสียหายไว้เบื้องต้น 500 ล้านบาท แต่ต้องรอให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติก่อนจะเข้าไปประเมินความเสียหายอีกครั้ง โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาโกดัง และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชนที่อยู่รอบโรงงานมีความกังวลเรื่องสุขภาพ ให้ติดต่อไปที่เทศบาล หรือทางโรงงานได้โดยตรง เพื่อรับการตรวจสุขภาพ หรือให้คำแนะนำ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ทุกวันเพื่อตรวจสอบมลพิษในอากาศ ยืนยันว่า ขณะนี้ควันจากเพลิงไหม้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่ระยะ 1 กิโลเมตร

สำหรับการดับเปลวเพลิงที่ปะทุลุกไหม้ขึ้นในโกดังกระดาษรีไซเคิลซึ่งมีมากกว่า 20,000 ตัน ในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ระดมฉีดน้ำตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะดับเปลวเพลิงมอดจนหมดภายในช่วงเย็นวันนี้ (6 พ.ค.) โดยได้ระดมรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่สนับสนุนจากทุกฝ่ายเข้าร่วม หลังจากช่วงแรกประเมินว่าจะดับได้ภายในเวลา 20.00 น. เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) แต่ทางนายอำเภอเมืองสมุทรสาคร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์เพลิงไหม้ ได้บอกว่า การดับเปลวเพลิงที่ลุกไหม้จะต้องยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 20 ชั่วโมง หรือ 1 วัน เนื่องจากพบปัญหาบางอย่างขณะปฏิบัติงานในส่วนที่เหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปฉีดน้ำในกองเพลิงที่ปะทุได้อย่างเต็มพิกัด จึงได้ปรับแผนปฏิบัติใช้รถแบ็กโฮตักกองกระดาษด้านล่างขึ้นมา และฉีดน้ำให้ทั่วถึงทั้งกองเอและกองบีซึ่งมีโครงหลังคาเหล็กถล่มลงมาทับกองกระดาษอยู่ โดยจะต้องใช้ความระวัง พร้อมฉีดน้ำหล่อเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าเปลวเพลิงจากด้านล่างจะไม่ปะทุขึ้นมาอีก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง