หอการค้าทั่วประเทศ คัดค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

หอการค้าทั่วประเทศ คัดค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

View icon 67
วันที่ 7 พ.ค. 2567 | 17.03 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หอการค้าทั่วประเทศ คัดค้านนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ลั่นปรับค่าจ้างที่สูงเกินความเป็นจริง ส่งผลกระทบภาวะเศรษฐกิจไทย พร้อมเสนอ 4 แนวทาง

ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้สำเร็จในวันที่ 1 ต.ค.2567 แต่ก็จะหารือกับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับ SME รวมทั้งในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอีกหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งนายกสมาคมเอสเอ็มอี ว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไร และจะขอให้ รมว.พาณิชย์ ควบคุมราคาสินค้าที่ขึ้นล่วงหน้าไปบ้างแล้ว

วันนี้  (7 พ.ค. 67) คณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัดแถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ โดยมีหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้า ที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่า 50 สมาคม แสดงจุดยืนภาคเอกชนคัดค้านค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากการปรับค่าจ้างที่สูงเกินความเป็นจริง ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ยังมีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศและสงครามการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ดังนี้
1. หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับรายได้เพื่อแรงงาน แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
2. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความ คิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)
3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจาก ทักษะฝีมือแรงงาน
4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง