เร่งสอบสวนสาเหตุการตาย แท็กซี่ดับในปั๊มน้ำมัน สงสัยวัณโรค

เร่งสอบสวนสาเหตุการตาย แท็กซี่ดับในปั๊มน้ำมัน สงสัยวัณโรค

View icon 88
วันที่ 24 มิ.ย. 2567 | 17.21 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
โชเฟอร์แท็กซี่ดับในปั๊มน้ำมัน เร่งสอบสวนโรคหาสาเหตุการตาย ยังไม่พบประวัติการรักษาวัณโรค เคยมาหาหมอด้วยอาการไอนานเป็นเดือน น้ำหนักลด ย้ำเตือนวัณโรคยังเป็นปัญหามีผู้ป่วยรายใหม่ 30คน/วัน ตาย 40 คน/วัน รู้เร็วรักษาหาย

การเสียชีวิตของโชเฟอร์แท็กซี่ หลังแวะจอดในปั๊มน้ำมันและมีอาเจียนเป็นเลือดในห้องน้ำ วันนี้ (24 มิ.ย.67) กรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจนอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นไม่พบผู้เสียชีวิตมีประวัติการรักษาวัณโรคในระบบของโรงพยาบาลใด ๆ ขณะที่มีข้อมูลจากศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งหนึ่ง ใน กทม. ให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตได้เข้ารับบริการตรวจ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.67 ด้วยอาการไอ เจ็บคอ น้ำหนักลด เป็นมา 1 เดือน หมอได้ให้ยารักษาตามอาการ และนัดมาตรวจเพิ่มเติม ในวันที่ 24 มิ.ย.67 แต่ผู้ป่วยได้เสียชีวิตก่อนได้รับการตรวจวินิจฉัย

ทั้งนี้วัณโรคยังคงระบาดและยังเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขในประเทศไทย จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 300 กว่ารายต่อวัน และมีการเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคกว่า 40 รายต่อวัน และประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทย ติดเชื้อวัณโรคแล้ว แต่จะมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ป่วยเป็นวัณโรค อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลงจากโรคประจำตัว หรือเป็นผู้สูงอายุ  

วัณโรคเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากปิดจมูก อาการสำคัญของผู้ป่วยวัณโรคที่เห็นได้ชัด คือ ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ น้ำหนักลด มีเหงื่อออกผิดปกติในเวลากลางคืน เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากมีอาการไอมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ป้องกันภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิต
         
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคมากกว่าประชากรทั่วไป ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังหรือผู้อาศัยในสถานคุ้มครอง และคนพิการ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้ติดสุราเรื้อรัง บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรคและกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค มีโอกาสที่จะติดเชื้อวัณโรคได้

หากสงสัยว่าตนเองสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค (เช่นกรณี อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน/120 ชั่วโมงต่อเดือน) ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน วัณโรคสามารถรักษาให้หายได้ โดยการกินยาต่อเนื่อง 6-8 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง