คอลัมน์หมายเลข 7 : ประปาหมู่บ้านคีรีวงกต สร้างเสร็จ 8 ปี ไม่เปิดใช้งาน?

View icon 45
วันที่ 29 มิ.ย. 2567 | 16.24 น.
เจาะประเด็นข่าว 7HD
แชร์
เจาะประเด็นข่าว 7HD - ประปาหมู่บ้าน บ้านคีรีวงกต จังหวัดอุดรธานี ถูกร้องเรียนว่าสร้างเสร็จ 8 ปี ไม่เปิดใช้งาน แม้ล่าสุด จะมีการปรับปรุงและเปิดใช้แล้ว แต่น้ำส่งไปไม่ถึงทุกหลังคาเรือน ติดตามได้กับคุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ในคอลัมน์หมายเลข 7

เพราะค่าไฟแพง นั่นจึงทำให้ประปาหมู่บ้านเเบบบาดาลขนาดกลาง บ้านคีรีวงกต หมู่ที่ 8 ตำบลนาแค อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ถูกทิ้งร้าง หลังจากสร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน ปี 2559

ทั้งที่ใช้งบประมาณ 1,745,800 บาท ก่อสร้างโดย บริษัท ทองมงคลก่อสร้าง จำกัด แต่กลับใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า มีชาวบ้านได้ใช้น้ำแค่ 15 หลังคาเรือน 

คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่า นอกจากปัญหาค่าไฟแพงแล้ว ประปาหมู่บ้าน บ้านคีรีวงกต ยังเกิดปัญหา กระแสไฟฟ้าไม่พอต่อการเปิดใช้อุปกรณ์สูบน้ำ เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากระบบสายไฟฟ้าแรงต่ำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 100 เมตร และเป็นพื้นที่ปลายสาย จึงเปิดระบบอัตโนมัติควบคุมไม่ได้

วิธีการ คือ ต้องให้สมาชิก อบต.หมู่ที่ 8 ในขณะนั้น เป็นคนเปิดปิดระบบน้ำเพื่อให้บริการ แต่สุดท้ายต้องปล่อยทิ้งร้างถึง 8 ปี

ความไม่คุ้มค่า นำมาสู่คำถามที่ว่า ก่อนหน้าจะดำเนินโครงการนั้น มีการทำประชาคมหมู่บ้านหรือไม่

เพราะจากการสังเกต พบว่า พื้นที่เป็นชุมชนเกิดใหม่  ตั้งห่างจากชุมชนหลัก ระยะทางนับกิโลเมตร

อบต.นาเเค ยืนยันผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้นมีการทำประชาคมหมู่บ้าน เเละปัจจุบันได้ปรับปรุง จนกลับมาใช้ได้เเล้ว

อบต.นาเเค ปรับปรุงโครงการจากงบประมาณเงินสะสม  ปี 2567 จำนวน 150,000 บาท ดำเนินการก่อสร้างระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์กับไฟฟ้าเพิ่มเติม

โดยมีห้างหุ้นส่วน จิระ 888 คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้าง เเละส่งมอบงานเรียบร้อย เเต่ก็ยังถูกร้องเรียนว่า ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ไม่ทั่วถึง

ซึ่งนายก อบต.นาเเค มองว่า เป็นเกมการเมือง !!!!

อบต.นาเเค ยืนยันโครงการไม่มีนอกมีใน เเต่เป็นที่น่าสังเกตว่า  ห้างหุ้นส่วน จิระ 888 คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ไม่ได้ทำสัญญาโครงการก่อสร้างบ่อบาดาลระบบสูบน้ำ 2 ระบบ เฉพาะหมู่ที่ 8 เท่านั้น

เเต่พบว่า ยังคว้างานโครงการเเละวงเงินงบประมาณเดียวกัน ในหมู่ที่ 6 เเละหมู่ที่ 3 ด้วย ทั้งหมดเป็นวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินรวม 450,000 บาท

ขณะที่ ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุดรธานี เน้นย้ำ ก่อนทำโครงการ จำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์สภาพพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุด 

เเม้ประปาหมู่บ้านจะจ่ายน้ำได้อีกครั้ง เเต่ก็กระจุกตัวเเค่ 15 หลังคาเรือน  ที่สำคัญ ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับค่าไฟที่เเพง เเละหากขาดการบริหารจัดการที่ดี อนาคตอาจซ้ำรอยกลับมาร้างเหมือนเดิม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง