วิจารณ์โครงการ ปุ๋ยคนละครึ่ง เป็นการสร้างหนี้

View icon 4.5K
วันที่ 1 ก.ค. 2567 | 16.34 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ชาวนาจวกโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" เป็นการสร้างหนี้ ซัดรัฐบาลชุดนี้ เอาเกษตรกรไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง สู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ ที่ให้แบบไม่มีเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นชาวนาในพื้นที่บ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี จังหวัดขอนแก่น ถึงโครงการสนับสนุนการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยให้เกษตรกรลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการปุ๋ยคนละครึ่งได้ ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม นี้ ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ผู้สื่อข่าวสอบถาม นายวิรัตน์ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธ์ข้าวชุมชนสาวะถี ระบุว่า จริง ๆ แล้วโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เริ่มต้นจากเกษตรกรรวมตัวกันเข้าไปคุยกรมการข้าว เรื่องเงินสนับสนุนปุ๋ยสูตรแตกกอ และสูตรแตกรวง จากนั้นกรมการข้าวดำเนินการต่อ นำเรื่องเข้ากรรมาธิการ แล้วออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งไม่ตอบโจทย์เกษตรกร ยิ่งช่วงนี้หาเงินยาก และยังให้เกษตรกรเอาเงินไปสมทบที่ ธ.ก.ส. ก่อนถึงจะได้ปุ๋ย ถ้าเกษตรกรรายไหนไม่มีเงินไปสมทบ จะทำอย่างไร

เปรียบเทียบรัฐบาลนี้ กับรัฐบาลลุงตู่ สู้รัฐบาลลุงตู่ไม่ได้ ห่างไกลกันมาก เพราะรัฐบาลลุงตู่ให้จริง ๆ แบบไม่มีเงื่อนไข ทั้งโครงการเครื่องจักรกล โครงการอินทรีย์ล้านไร่ แต่รัฐบาลนี้เหมือนเอาเกษตรกรไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าโครงการนี้ใครไม่มีเงินสมทบ ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เหมือนเป็นการสร้างหนี้ให้เกษตรกรเพิ่ม ถ้าไม่มีเงินก่อนจะทำอย่างไร

โครงการนี้ยังมีอะไรหลายอย่างไม่ชัดเจน ควรจ่ายเงินมาช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรเลย แล้วให้เกษตรไปเลือกซื้อปุ๋ยสูตรต่าง ๆ เพื่อเป็นการบริหารจัดการตัวเองจะดีกว่า

สำหรับเงื่อนไขของโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง ที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ คือ
1.ปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพในราคาครึ่งหนึ่ง ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 10,000 บาทตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท

2.ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีคุณภาพและผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร

3. ระยะเวลาโครงการ 15 กรกฎาคม 2567 - 31 พฤษภาคม 2568

โดย คุณสมบัติของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วยเช่นกัน ส่วนวิธีเข้าร่วมโครงการนั้น เกษตรกรต้องใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. ที่จะเปิดให้ใช้บริการในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ จากนั้นระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส.