ชาวบ้าน เสียใจ หลังเคยช่วยฟื้นฟูผืนป่าทับลานและช่วยดับไฟป่า กลับถูกฟ้องดำเนินคดีบุกรุกอุทยานฯ

ชาวบ้าน เสียใจ หลังเคยช่วยฟื้นฟูผืนป่าทับลานและช่วยดับไฟป่า กลับถูกฟ้องดำเนินคดีบุกรุกอุทยานฯ

View icon 81
วันที่ 11 ก.ค. 2567 | 17.17 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ชาวบ้านไทยสามัคคี โคราช เผยเสียใจ หลังเคยช่วยฟื้นฟูผืนป่าทับลานและช่วยดับไฟป่า กลับถูกฟ้องดำเนินคดีบุกรุกอุทยานฯ  ชี้ บังคับใช้กฎหมายไม่เป็นธรรม 2 มาตรฐาน จากกลุ่มอนุรักษ์กลายเป็นนายทุน

11 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มนายทุนในเขตพื้นที่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 400 คดี และมีบางคดีที่มีการฟ้องร้องจนจบสิ้นคดีไปแล้ว แต่บางคดียังคงอยู่ในชั้นศาล ทำให้ยังคงมีบางรีสอร์ตเปิดให้บริการอยู่ และยังไม่มีการรื้อถอนแต่อย่างใด รวมไปถึง รีสอร์ตที่ถูกฟ้องดำเนินคดีบางรีสอร์ทก็ปิดกิจการไปแล้ว อย่างเช่น อิมภูฮิลล์ รีสอร์ท ที่อยู่บริเวณทางเข้าบ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 คุ้มคลองกระทิง ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ปิดกิจการไปแล้ว โดยสภาพรีสอร์ตถูกทิ้งร้าง

อย่างไรก็ตาม ในเขตพื้นที่บ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 ก็ยังมีผู้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอยู่อีกหนึ่งราย คือ รายของบ้านทองคำ ซึ่งเปิดกิจการโฮมสเตย์เมื่อประมาณปี พ.ศ.2552 ถูกดำเนินคดีในปี พ.ศ.2555 เช่นกัน ปัจจุบันคดีความยังอยู่ในชั้นศาล ซึ่งจะมีการไปขึ้นศาลอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายนปีนี้

ซึ่งนางเฉลิม จ้ายนอก เจ้าของบ้านทองคำ บอกว่า “ก่อนที่จะสร้างโฮมสเตย์นั้น ตนกับสามีก็มีอาชีพเลี้ยงวัวทำเกษตรกรรมบนที่ดินผืนนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตายาย ซึ่งตนถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่สืบทอดมรดกในที่ดินผืนนี้ ก่อนที่ลูกชายของตนจะเรียนจบด้านการท่องเที่ยวมา และมีความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่เรียนมาพัฒนาต่อยอดอาชีพ ด้วยการเปิดเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งเปิดได้ประมาณ 3 ปี ก็ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานฯ มาแจ้งจับในข้อหาบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานฯ  ซึ่งตอนนั้นตนรู้สึกตกใจมาก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ตนเริ่มสงสัยว่า แล้วก่อนหน้านี้ตอนที่ตนเริ่มสร้างโฮมสเตย์ เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ก็รับรู้มาโดยตลอด ว่า ตนกำลังจะทำโฮมสเตย์  แต่ทำไมถึงไม่มีการบอกกล่าวว่าไม่สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้ตนและครอบครัว รวมไปถึง ชาวบ้านในหมู่บ้าน รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่ทางอุทยานฯ มาฟ้องดำเนินคดีกับตน 

รวมทั้ง การประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนกับเขตพื้นที่ของชุมชน เนื่องจากตนและครอบครัว รวมไปถึงชาวบ้านในตำบลไทยสามัคคีเมื่อก่อนเคยร่วมกันกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ฟื้นฟูผืนป่าตั้งแต่ภูหลง รวมไปถึง บริเวณผาเก็บตะวัน ซึ่งก่อนนี้มีลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งตนและชาวบ้านได้ตั้งเป็นกลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำมูลขึ้นมา เพื่อรักษาผืนป่าบริเวณแห่งนี้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังดำเนินกิจกรรมปลูกป่าและรักษาผืนป่ากันอยู่ นอกจากนี้ ชาวบ้านในชุมชนยังช่วยกันคนละไม้คนละมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเวลาที่เกิดไฟป่าขึ้น ชาวชุมชนตำบลไทยสามัคคีต่างรู้ดีว่าต้องช่วยกันรักษาพื้นป่าให้คงอยู่สืบไปจนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่กลับถูกทางกรมอุทยานฯ ฟ้องร้องดำเนินคดี ทำให้ตนรู้สึกเสียใจเพราะมีการพูดถึงกิจกรรมเหล่านี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ”

ด้านนายทองคำ จ้ายนอก สามีนางเฉลิมฯ กล่าวว่า “ตั้งแต่มีปัญหาการประกาศเขตพื้นที่ทับซ้อนอุทยานฯ ขึ้นมา และมีกลุ่มชาวบ้านถูกดำเนินคดี ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านจนถึงขั้นให้นำถังน้ำทั้งหมดไปเททิ้ง เพื่อไม่ให้ไปช่วยเหลือการดับไฟป่า ส่วนกลุ่มเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านก็โมโหถึงขั้นอยากจะจุดไฟเผาป่า แต่ตนได้ห้ามไว้เพราะว่าโมโหไปก็เท่านั้น คนที่มาจับมาจากที่อื่นและไฟที่ไหม้ก็ไหม้บ้านของพวกเราเองที่ร่วมกันปลูก ไม่ได้ไปไหม้บ้านเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ ที่เห็นมีได้อย่างทุกวันนี้ ตนและภรรยารวมทั้งครอบครัวก็หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงมาจากการทำเกษตรกรรมจนมีถึงทุกวันนี้ได้ แต่หลังจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ครอบครัวต้องหมดเงินไปกว่า 1 ล้านบาท  วัวที่เคยเลี้ยงต้องขายออกไปหลาย 100 ตัว เพื่อนำเงินทั้งหมดที่หาได้มาสู้คดี ถึงตอนนี้คดีความก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด

สำหรับข้อกล่าวหาที่ทางอุทยานฯ มองว่า ตนเป็นนายทุนนั้น ทำให้ตนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะทุกสิ่งที่เห็นตนหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนและครอบครัว แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนจนถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งทำให้ตนสงสัยว่า ในเมื่อประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ชุมชนขนาดนั้น ทำไมถึงมีแค่ตนที่ถูกดำเนินคดี เพราะอันที่จริงแล้วถ้าเป็นเขตอุทยานฯ จริง ถึงแม้จะเป็นหินหรือหน่อไม้ ถ้านำออกไปก็ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งบริเวณบ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 ยังมีอีกหลายหลังคาเรือนที่ไม่ได้ถูกฟ้องดำเนินคดีเหมือนกับตน หรือเพียงเพราะว่า ตนนั้นมีโฮมสเตย์ที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง จึงมองว่า หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายสองมาตรฐาน และไม่เป็นธรรม ถ้ายึดตามประกาศเขตอุทยานปี พ.ศ.2524 ฉะนั้น จนอยากจะขอร้องให้ทางกรมอุทยานฯ กลับไปใช้ประกาศเขตอุทยานปี พ.ศ. 2543 ที่เริ่มต้นเอาไว้และมีหลักหมุดที่ชัดเจน แต่กลับถูกประกาศยกเลิกไม่ใช้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง