ชาวบ้านโอด ปลาพันธุ์ดังเดิม-กุ้ง แทบไม่เหลือ

ชาวบ้านโอด ปลาพันธุ์ดังเดิม-กุ้ง แทบไม่เหลือ

View icon 2.5K
วันที่ 12 ก.ค. 2567 | 09.45 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ชาวประมงพื้นบ้านนครศรีฯ เผยจับสัตว์น้ำอื่นได้แค่ 5-10 % สวนทางปลาหมอสีคางดำ

วันนี้ (12 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณบ้านหัวดอน บ้านหัวหรง ตำบลขนาบนาค อำเภอปากพนัง นครศรีธรรมราช พบการระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดยเฉพาะแถบอำเภอหัวไทร และอำเภอปากพนัง ยังมีแนวโน้มสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศสัตว์น้ำท้องถิ่นอย่างหนัก

จากการติดตามการจับปลาหมอสีคางดำของชาวบ้านหลายครอบครัวเพื่อส่งขายให้กับแพประมงพาณิชย์ใช้เป็นปลาเหยื่อสำหรับลอบปู เหยื่อสำหรับเกี่ยวเบ็ดราว และยังนำไปแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาส้ม หรือ “เคยปลา”วัตถุดิบสำหรับแกงเคยปลา อาหารขึ้นชื่อของนครศรีธรรมราช

ชาวบ้านผู้ตั้งจุดรับซื้อส่งไปยังแพปลาตามคำสั่งซื้อทุกวันระบุว่าการจับปลาหมอสีคางดำของชาวบ้านจะรวมเป็นกลุ่มเครือข่าย เนื่องจากหากจับแบบแยกย่อยจะไม่ทันเนื่องจากคำสั่งซื้อมีเป็นจำนวนมากวันละ 200-300 กิโลกรัม ต่อจุด และยังมีการสั่งซื้อแบบหน้างานโดยตรงเพื่อนำไปแปรรูปอีกหลายรายต่อวันปลาที่ได้มีอาจมากถึง 500 กิโลกรัมต่อจุดรวมปลาเพียงจุดเดียว

นายสร้อย ชาวบ้านระบุว่า การจับปลาหมอสีคางดำในพื้นที่มีการจับอย่างต่อเนื่องทุกวัน คิดว่าหลายจุดรวมกันต่อวันคิดเป็นน้ำหนักหลายตัน แต่ชาวบ้านยังคงจับปลาได้เหมือนทุกวันไม่เคยมีปริมาณลดลงไปจากเดิม การจับของชาวบ้านจะใช้วิธีดักอวน คือการวางตาข่ายอวนไปในพื้นที่มีความยาวต่อปากประมาณ 30-50 เมตร ต่อปาก เมื่อกู้อวนขึ้นมาแทบร้อยเปอร์เซ็นจะมีปลาหมอสีคางดำติดอวนมาทั้งหมด มีน้อยมากที่บางปากจะมีกุ้งขนาดใหญ่ หรือปลาพื้นถิ่นติดมาเพียงเล็กน้อยไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และเป็นที่น่าสังเกตว่าปลาหมอเทศ ที่กลายเป็นปลาประจำถิ่นมาหลายสิบปีเป็นแหล่งรายได้และอาหารในแหล่งน้ำกร่อยสูญหายไปจากพื้นที่หมดแล้ว ขณะเดียวกันสายพันธุ์ท้องถิ่น เช่นกุ้งธรรมชาติชนิดต่างๆ ปลาพื้นถิ่นหลายชนิดมีปริมาณลดน้อยลงอย่างมากจนแทบไม่มีเลยโดยเฉพาะในแหล่งน้ำกร่อยใกล้กับทะเล

ล่าสุด สำนักงานประมงจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่รับซื้อปลาหมอสีคางดำ และแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านสามารถบันทึกภาพและแจ้งพิกัดการพบปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำได้ตลอดเวลาเพื่อพล็อตพิกัดแผนที่การแพร่ระบาดในนครศรีธรรมราช ขณะนี้ทุกอำเภอเริ่มสำรวจแหล่งน้ำต้องสงสัยทุกพื้นที่เพื่อสำรวจการมีอยู่ของปลาหมอสีคางดำ