เสนอปรับเมนู ปลาหมอคางดำ ผู้ต้องขัง

View icon 72
วันที่ 24 ก.ค. 2567 | 07.18 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ชาวบ้านร่วมกันหาทางออก เสนอกระทรวงยุติธรรม ทบทวนเมนูอาหารกลุ่มนักโทษ ด้วยการรับซื้อ "ปลาหมอคางดำ" มาทำอาหารแทนกลุ่มปลาเบญจพรรณ

เสนอปรับเมนู ปลาหมอคางดำ ผู้ต้องขัง
ตัวแทนสหกรณ์การเกษตรวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง นำไอเดียนี้ไปยื่นที่กระทรวงยุติกรรม เพื่อแจ้งไปยังกรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนการรับซื้อปลาเบญจพรรณ หรือ กลุ่มปลาหลากหลายชนิด จากสหกรณ์ฯ มารับซื้อ "ปลาหมอคางดำ" ไปทำอาหารให้นักโทษ โดยจะเปิดจุดรับซื้อ กำหนดราคาปลาตัวใหญ่ น้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม จะได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 22 บาท

ขณะที่ “CPF" ประกาศความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงโรงงานปลาป่น ขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกอย่างเร่งด่วน เร่งกำจัดปลาหมอคางดำ ดังนี้

1. รับซื้อ "ปลาหมอคางดำ" จากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม รวม 2 ล้านกิโลกรัม นำส่งโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร ไปผลิตเป็นปลาป่น

2. ปล่อยปลาผู้ล่า 2 แสนตัวให้กับพื้นการแพร่ระบาด เพื่อปล่อยในแหล่งน้ำ

3. สนับสนุนอุปกรณ์และคนในการจับปลาในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด

4. พัฒนาอาหารที่ทำจาก "ปลาหมอคางดำ" เช่น ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น หรือจะเป็นน้ำพริกปลากรอบ

5. ร่วมวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ ควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว

สาเหตุที่ ภาคเหนือ-ภาคอีสาน ไม่พบปลาหมอคางดำ
แล้วทำไมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่พบปลาหมอคางดำ ทีมข่าวฯ ไปหาคำตอบจากกรมประมง อธิบายว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่การระบาดเป็นน้ำกร่อยมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศเหมาะสมในการแพร่พันธ์ุ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่ขึ้นต้นด้วย "สมุทร" เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

เจ้าของที่ดิน ปักป้ายขายหนี ปลาหมอคางดำ
สำหรับพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดอย่างหนัก พบว่า เจ้าของที่ดินยอมตัดใจประกาศขายแบบยกแปลง เพราะหลายปีมานี้สูบน้ำจับกุ้งหรือปลากะพงครั้งใดก็จะพบแต่ปลาหมอคางดำ

จนท.ประมง แนะตัดหัวฝังดิน อย่าโยนแหล่งน้ำ
ที่จังหวัดนนทบุรี ​เจ้าหน้าที่ประมง ลงพื้นที่คลองย่อย 500 อำเภอไทรน้อย ตรวจสอบการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ แต่ไม่พบ คาดว่าจะไหลไปตามกระแสน้ำแล้ว

ส่วนกรณีที่มีการแชร์คลิปภาพตัดหัวปลาหมอคางดำ ก่อนนำไปประกอบอาหารนั้น แนะนำให้นำหัวไปฝังกลบ ไม่ควรโยนทิ้งลงแหล่งน้ำ เนื่องจากตัวผู้บางตัวยังมีไข่อยู่ในปาก มีโอกาสที่จะขยายพันธุ์ได้

ขณะที่ คณะอนุ กมธ. เข้าเยี่ยมชมห้องเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ 2 ห้อง ของกรมประมง เบื้องต้น ไม่พบหลักฐานการรับตัวอย่างปลาหมอคางดำ จำนวน 50 ตัว ส่วนที่ห้องธนาคาร DNA ก็พบครีบปลาหมอคางดำ ที่ อธิบดีกรมประมง เคยบอกไว้ว่า เมื่อปี 2560 เคยเก็บมาจากบ่อเพาะเลี้ยงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยผลตรวจ DNA เบื้องต้น มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายกับที่พบในปัจจุบันหลายพื้นที่ โดยวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ จะเชิญบริษัทเอกชนมาให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการเกี่ยวกับเนื้อหาโครงการวิจัยทั้งหมด