“ปลอดประสพ” ปลุกกระแสสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ หลังน้ำท่วมมาตลอด 50 ปี

“ปลอดประสพ” ปลุกกระแสสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ หลังน้ำท่วมมาตลอด 50 ปี

View icon 168
วันที่ 31 ส.ค. 2567 | 10.13 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“ปลอดประสพ” วอนตระหนักประโยชน์ส่วนรวม แลกผืนป่าแสนไร่ สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่

วันนี้ (31ส.ค.67) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ ประธานยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อพิจารณาศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่หลังถอดบทเรียนน้ำท่วมตลอด 50 ปี ล่าสุด มีข้อความบางส่วน ดังนี้

“1. ผมเป็นนักเรียนสิ่งแวดล้อมรุ่นแรกๆของประเทศ เป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ผมสอนหนังสือและบรรยายเรื่องสิ่งแวดล้อมเกือบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไม่เข้าใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

2. ผมเป็นอธิบดีกรมป่าไม้และเป็นปลัดกระทรวงทส. มานานถึงแปดปี และเป็นผู้ให้กำเนิดกรมอุทยานฯ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะไม่รักและหวงแหนป่า ในสมัยผมประเทศไทยมีป่ามากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง  33% (Forest cover)

3. มีการพูดเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตั้งแต่ปี 2519 จุดที่จะสร้างมีชื่อว่า บ้านห้วยสัก ต. สะเอียบ จ.แพร่ ปัจจุบันอยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม มีน้ำลึกเฉลี่ย 1.31เมตร น้ำไหลผ่านเฉลี่ย  1,278 cu.sec. แต่ในปีนี้ด้วยพายุฝน น้ำลึกถึงเกือบ 10 เมตร มีน้ำไหลด้วยความเร็ว 1,000-1,500 cu.sec. ตลอดอาทิตย์ และด้วยฝน 5-7วันในช่วงพายุมีฝนรวม 500-600 มม. ก่อให้เกิดมวลน้ำขนาดมหึมาอาจมากถึง 5,000 ล้านลบ.ม. มวลน้ำจำนวนนี้แหละที่ไหลลงไปท่วมภาคเหนือตอนล่าง เช่น แพร่และสุโขทัย เป็นต้น

4. ในปัจจุบันได้มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการสร้างเขื่อนใหญ่แก่งเสือเต้นบนลำน้ำยม(main stream) พบว่า หากสร้างในลำน้ำสาขา 26 แห่ง ราคาจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวแต่เก็บน้ำได้น้อยลง 1 เท่า ทำให้ใช้เพื่อการป้องกันอุทกภัยไม่ได้

5. สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเทียบเรือ ถนนหรือทางรถไฟ ล้วนกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น แต่หากมันจำเป็นต้องสร้างเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนเพื่อพัฒนาประเทศ มันก็ต้องทำ เพียงแต่ต้องทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและคุ้มค่าที่สุดเท่านั้น ชาติไหนในโลกก็ทำทั้งนั้นครับ

6. การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องเสียพื้นที่ป่าประมาณแสนไร่ ซึ่งเราคงต้องยอม แต่ก็สามารถเรียกคืนมาได้เช่น หยุดเรื่องที่คิดจะเฉือนอุทยานทับลาน 200,000 ไร่เสีย ก็ทดแทนกันได้แล้ว ใช่ไหมครับ หรืออนุญาตให้เอกชนปลูกป่าเศรษฐกิจในเขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรม ซึ่งมีมากกว่า 5 ล้านไร่ ก็จะกำไรด้วยซ้ำ ผมเกิดมา 80ปี ประเทศไทยควรจะเจริญกว่านี้ ที่ไม่เจริญก็เพราะจะเอาชนะคะคานกัน โดยไม่มองประโยชน์ของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ กลุ่มNGO และชาวสะเอียบ ซึ่งผมก็เชื่อว่า ท่านรักส่วนรวมและก็มีความรู้ หันกลับมาพูดคุยกันเถอะครับ เพื่อลูกหลานของพวกเราในอนาคต”