เรื่องใหญ่ต้องขยาย : คืบหน้า คัดค้านสร้างบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล

View icon 33
วันที่ 1 ต.ค. 2567 | 12.50 น.
7 สีช่วยชาวบ้าน
แชร์
7 สีช่วยชาวบ้าน - เรื่องใหญ่ต้องขยายวันนี้ เป็นความคืบหน้ากรณีชาวบ้าน 3 หมู่บ้านที่จังหวัดสุรินทร์ คัดค้านการสร้างบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล 31 บ่อ ของเทศบาลเมืองสุรินทร์

หลัง 7 สีช่วยชาวบ้านนำเสนอเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา โดยชาวบ้านหมู่ 1 หมู่ 10 และหมู่ 12 ตำบลแกใหญ่ อำเภอเมืองสุรินทร์ คัดค้านการก่อสร้างบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลเมืองสุรินทร์ ที่มาขอใช้พื้นที่ของ อบต.แกใหญ่ เพราะกังวลผลกระทบต่าง ๆ ประกอบกับในพื้นที่มีบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลอยู่แล้ว และสร้างปัญหามาหลายสิบปีด้วย จึงมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรมธรรมจังหวัด ขอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยศูนย์ดำรงธรรมฯ รับหนังสือและส่งต่อให้หน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบและส่งหนังสือถึง นายสมชัย บูรณะ นายอำเภอเมืองสุรินทร์ ซึ่งเปิดเผยว่า จะประสานคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ อบต.แกใหญ่ และเทศบาลเมืองสุรินทร์ เพราะการทำกิจการนอกเขต ต้องเกิดจากความเห็นชอบของ 2 ฝ่าย คือเทศบาลเมืองสุรินทร์ กับ อบต.แกใหญ่ แต่ต้องไม่กระทบกับความเป็นอยู่และความปลอดภัยของชาวบ้าน ด้วย เบื้องต้นจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 2 สัปดาห์

ขณะที่ นายพิสูตร ดีเลิศ นายก อบต.แกใหญ่ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจโดยตรงของสภาตำบลแกใหญ่ ผู้บริหารไม่สามารถชี้นำหรือเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งมติของสภาเห็นด้วย 5 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง จึงต้องยึดเสียงส่วนมาก เมื่อสภาเทศบาลเห็นชอบ ต้องรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป แต่หากชาวบ้านร้องคัดค้านอาจจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปที่ นายธนกร วนะกิจกุลพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ฝ่ายสาธารณสุข เปิดเผยว่า การสร้างบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูล เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. เพราะใช้ในการจัดการสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ ซึ่งเทศบาลเมืองสุรินทร์ มีรถดูดสิ่งปฏิกูลเพียงคันเดียว และมีบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลพื้นที่กว่า 200 ไร่ ในตำบลแกใหญ่ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 ทุกเดือนมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำมาตลอด และส่งผลตรวจให้ อบต.แกใหญ่ ทุก ๆ เดือน

ก่อนหน้านี้ เทศบาลฯได้นำคณะ อบต.แกใหญ่ และชาวบ้าน ไปดูงานที่เทศบาลนครนนทบุรี ซึ่งมีบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลตามโครงการพระราชดำริมานานแล้ว โดยเป็นบ่อที่สร้างในพื้นที่ที่ถูกล้อมด้วยหมู่บ้านจัดสรรค์ และใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจเรื่องระบบบำบัดดังกล่าว

ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างเดิมอยู่ที่ 21 ล้านบาท แต่จากการไปดูงานจะมีการปรับขนาดลดบ่อ ซึ่งสามารถลดงบประมาณได้อีก รวมไปถึงปรับแบบของอาคารที่เก็บปุ๋ยหมัก และโรงจอดรถ โดยบ่อบำบัดทั้ง 31 บ่อ จะอยู่ในพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ ส่วนการก่อสร้างต้องรองบประมาณในปีถัดไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง