เวลา 08.58 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานส่วนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทรงเปิดงานวันอาหารโลก ครั้งที่ 44 ซึ่งจัดขึ้นในหัวข้อ "สิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีถ้วนหน้า และอนาคตที่ดีกว่า"
วันอาหารโลก จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการก่อตั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ตุลาคมของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอาหารให้แก่ประชาชน รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาในการจัดการและการกระจายอาหาร
โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสเปิดงานวันอาหารโลก ครั้งที่ 44 ทรงเน้นย้ำถึงการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน จะทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้แม้ในช่วงวิกฤติ ท้ายที่สุดแล้ว ราคาที่เหมาะสมเป็นกลไกสำคัญ ที่จะทำให้อาหารที่มีโภชนาการและมีความหลากหลายเข้าถึงทุกคนได้ จากนั้น ทรงฟังบรรยายพิเศษโดย นายลุค เต จากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู ในหัวข้อ "สิทธิทางอาหาร เพื่อทุกคนอิ่มดีถ้วนหน้า และอนาคตที่ดีกว่า" และจากนวัตกรรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จากประเทศอินโดนีเซีย เนปาล ปาปัวนิวกินี ซามัว และไทย ในหัวข้อ "ผลงานของเยาวชน มีผลกระทบอย่างไรกับการสร้างสิทธิในการเข้าถึงอาหาร เพื่อชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น" โดยประเทศไทย นางสาวกมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์ บรรยายเรื่อง "นวัตกรรมการเกษตรและผู้ประกอบการรุ่นใหม่" ที่ผลิตและจัดจำหน่ายผำ หรือ วูฟเฟีย ซึ่งเป็นพืชน้ำพื้นเมืองที่ให้โปรตีนสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยผำ 100 กรัม จะให้โปรตีนเทียบเท่ากับไข่ไก่ 10 ฟอง และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ภายในงานฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการเข้าถึงและความสามารถในการซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อเอื้ออำนวยการผลิตอาหาร ภาวะทุพโภชนาการที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อกลุ่มสังคมเศรษฐกิจทุกระดับ โดยคาดว่าภาวะน้ำหนักเกินทั่วโลกจะเพิ่มจากร้อยละ 14 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 24 ภายในปี 2578
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีบทบาทสำคัญต่อระบบอาหาร-เกษตรของโลก มีผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมถึง 793 ล้านคน จาก 1.2 พันล้านคนทั่วโลก และมีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารป้อนประชากรโลกกว่า 8 พันล้านคน โดยประชากรโลกประมาณ 2.8 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในจำนวนนี้ 1.66 พันล้านคน อยู่ในภูมิภาคเอเชีย
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการจากโรงเรียนปัญญาประทีป จังหวัดนครราชสีมา ในหัวข้อ "แกนกลางหลักสูตรโรงเรียนปัญญาประทีป และโครงการลดขยะอาหารของนักเรียน" โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 วิชาสัมมาธุรกิจ ให้นักเรียนลงพื้นที่ ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน แล้วมาจัดทำโครงการที่สามารถส่งต่อแก่ชุมชนเพื่อสร้างรายได้ อาทิ ปลา ทับปลา : ส่งต่อความสมบูรณ์จากทะเลใต้ สินค้าแปรรูปจากชาวมอแกลน จังหวัดพังงา, ชูโตะ : หน่อไม้ป้องกันไฟป่าจากภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย และหมูหรอย : ส่งเสียงเพื่อให้หมูดำไทยเป็นที่รู้จัก เป็นสุกรพันธุ์เหมยซานจากดอยตุง จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ ทอดพระเนตรภาพถ่ายที่ชนะการประกวดในหัวข้อ 4 Betters ได้แก่ Better production การผลิตที่ดีกว่า, Better nutrition โภชนาการที่ดีกว่า, Better environment สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และ Better life คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วย
เวลา 15.04 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ทรงเปิดงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มาปรับใช้ในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิชาการจากองค์กรต่าง ๆ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และประสบการณ์ สร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนสุขภาพดี
โอกาสนี้ ได้พระราชทานรางวัล Princess Health Award แก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลบุคคลดีเด่นประเภทบริหารแก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิด วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, รางวัลบุคคลดีเด่นประเภทวิชาการแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ภาสกร แช่มประเสริฐ รองผู้บริหารเมืองอัจฉริยะ และรางวัลองค์กรดีเด่นแก่ เทศบาลเมืองยโสธร ตำบลในเมือง จังหวัดยโสธร พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพและด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การดำเนินงานสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร หรือ กพด., การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน, การดำเนินงานสมดุลสุขภาพและเส้นทางสุขภาวะที่ดี และการดำเนินงาน Lifestyle Medicine เวชศาสตร์วิถีชีวิต