สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 147
วันที่ 14 ต.ค. 2567 | 20.05 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 08.59 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์ประธาน วัฒนวาณิชย์ ประธานกรรมการอำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ นำคณะผู้บริหาร และนายกสมาคมพุทธศาสนามณฑลซานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย โอกาสนี้ พระภิกษุ ร่วมเฝ้าด้วย

นายปัญญา รุ่งเรือง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นำคณะกรรมการร้านมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการออกร้านงานกาชาด ประจำปี 2566 เพื่อบำรุงสภากาชาดไทย

นายโยชิทาคะ ซูซุกิ ประธานบริษัท เอ็นทีเอ็น แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด นำคณะผู้บริหารบริษัทฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการดำเนินธุรกิจ สมทบทุนมูลนิธิ เทพรัตนเวชชานุกูล

นายดนุชา สินธวานนท์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นำนางจันดา สายสมร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้า ทูลกระหม่อมถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา ในโอกาสที่บริษัทฯ ดำเนินกิจการครบ 29 ปี ในประเทศไทย

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นำคณะกรรมการร้านการไฟฟ้านครหลวง เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการออกร้านงานกาชาด ประจำปี 2566 และเงินวันเปิดงานกาชาด พร้อมทั้งเงินร่วมสมทบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบไฟฟ้าในงานกาชาดฯ เพื่อบำรุงสภากาชาดไทย

นางจันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย นำคณะบุคคล เฝ้าทูลละอองพระบาท ดังนี้

-นายทศพร อสุนีย์ และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน สมทบทุนโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย

- นางรัศรินทร์ ลัดใหม่กุลวัฒน์ นายกสมาคมส่งเสริมบุคลิกสตรี และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจัดกิจกรรมการกุศล สมทบกองทุน 30 พฤษภา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

นางมุกดา จิราธิวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล นายกสมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นำคณะกรรมการสมาคมฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการออกร้านงานกาชาด ประจำปี 2566 เพื่อบำรุงสภากาชาดไทย

เวลา 09.29 น. เสด็จลง ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายไพศาล ล้อมทอง อธิบดีกรมกิจการพิเศษสำนักพระราชวัง นำนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครู ในปี 2563-2566 เฝ้าทูลละอองพระบาท เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน สมทบกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิ่งของต่าง ๆ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระราโชวาท เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ประธานอุปถัมภ์การจัดสร้างปูชนียมงคลวัตถุ วัดตาปะขาวหาย อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานไฟพระราชทานเพื่อเชิญไปถวายพระสงฆ์จุดเทียนชัยในพิธีพุทธาภิเษก-สมโภชปูชนียมงคลวัตถุ รุ่นพุทธเทวบารมี สำเร็จสมปรารถนา เพื่อหารายได้ สมทบทุนการก่อสร้างศาลาธรรมสังเวชทรงไทย พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ และรับพระราชทานผ้าไตร เพื่อเชิญไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในพิธีพุทธาภิเษก-สมโภชปูชนียมงคลวัตถุรุ่นดังกล่าว ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ วัดตาปะขาวหาย อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

นายเดวิด เดลี (Mr. David  Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นางเอดีน เดลี (Mrs. Aideen  Daly) ภริยาเอกอัครราชทูตฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาท ด้วย

เวลา 14.10 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะ และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปอาคารมหาสุรสิงหนาท ทอดพระเนตรนิทรรศการศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถึงสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 เริ่มจากห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศิลปะศรีวิชัย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 เพื่อส่งต่อเนื้อหาไปยังอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในประเทศไทย หลังพุทธศตวรรษที่ 18
                                                                                                                                                            
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูลรายงานการปรับปรุงอาคารมหาสุรสิงหนาท เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีมาตรฐานระดับสากล และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ตามนโยบายด้านซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล เริ่มบูรณะตั้งแต่ปี 2562 และเปิดให้บริการ เมื่อต้นปี 2565 ใช้จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยลพบุรี ซึ่งนับเป็นช่วงแรกที่ปรากฏหลักฐานอารยธรรมขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย

ส่วนจัดแสดงที่ทอดพระเนตรในวันนี้ ได้แก่ ห้องเอเชีย : แสดงโบราณวัตถุที่เป็นงานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนา พุทธศิลป์บางประเทศเป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะไทย

ห้องก่อนประวัติศาสตร์ : แสดงเครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการพัฒนาตามลำดับ เช่น ภาชนะดินเผา สำริด เหล็ก เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องประดับต่าง ๆ ช่วงเวลานี้มีการค้นพบโบราณวัตถุที่แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นที่ห่างไกล จากการติดต่อสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคม เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา

ห้องทวารวดี : แสดงวัฒนธรรมทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ซึ่งแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของไทย พบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก ส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา สัญลักษณ์ทางศาสนาที่เด่นชัดของยุคนี้คือ "ธรรมจักร"

ห้องลพบุรี แสดงศิลปกรรมที่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมเขมรในราชอาณาจักรกัมพูชา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 หรือประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว สร้างขึ้นตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ผ่านระบบการเมืองการปกครอง มีประติมากรรมชิ้นสำคัญที่จัดแสดง คือ รูปพระศิวะ หรือ Golden Boy และรูปสตรี นั่งชันเข่ายกมือไหว้เหนือศีรษะ หรือ The Kneeling Female ซึ่งได้รับมอบจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ห้องศิลปะศรีวิชัย แสดงหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมศรีวิชัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-18 ทางตอนใต้ของไทย พบหลักฐานทางโบราณคดีวัฒนธรรมศรีวิชัยที่สำคัญ คือ "พระคเณศ 4 กร" เป็นโบราณวัตถุที่ได้รับมอบเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสชวา ครั้งที่ 2 ในปี 2439 และอีกส่วนหนึ่งได้รับเพิ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ สามารถเข้าชมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมา และเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของประเทศ ได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 08.30 - 16.00 น.

ข่าวอื่นในหมวด