เลขาฯ กฤษฎีกา เผย ไม่มีงบฯ ปกติจ่ายเยียวยาที่ดินอัลไพน์

เลขาฯ กฤษฎีกา เผย ไม่มีงบฯ ปกติจ่ายเยียวยาที่ดินอัลไพน์

View icon 77
วันที่ 21 ม.ค. 2568 | 13.00 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เลขาฯ กฤษฎีกา เผย ไม่มีงบฯ ปกติจ่ายเยียวยาที่ดินอัลไพน์ เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น มท.ต้องขอ “งบฯ กลาง” ชี้ช่องออก พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ทำบ่อยแต่ไม่เป็นข่าว

วันนี้ (21 ม.ค.68) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีแนวคำวินิจฉัย การเพิกถอนที่ดินอัลไพน์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า แนวคำวินิจฉัยมีตั้งแต่ปี 2544 และหลักของคำวินิจฉัยคือ ที่ดินที่ได้มาโดยมรดกต้องทำเป็นไปตามที่เจ้าของมรดกกำหนดเมื่อต้องการให้ตกแก่วัด ก็ต้องตกแก่วัด ซึ่งการเพิกถอนที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ขอให้ไปถามจากกระทรวงมหาดไทยว่า จะหาทางแก้ไขเยียวยาให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ซึ่งก็ต้องไปว่ากันอีกรอบหนึ่ง

ขณะเดียวกันก็ต้องตรวจสอบว่า มีการจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอะไรหรือไม่ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว รัฐบาลต้องเสียเงินชดเชย ให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริต ซึ่งเป็นผู้ได้มาโดยสุจริตต้องไปดูว่า คำสั่งทางปกครองออกมาและถูกยกเลิกไปนั้นชอบหรือไม่ และประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า จะนำมาจากส่วนใด แต่หากจำเป็นจะต้องแก้ไขเยียวยา ของบประมาณก็สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้

เมื่อถามย้ำว่า ใช้งบปกติไม่จำเป็น ต้องของบกลางจากรัฐบาลใช่หรือไม่ นายปกรณ์ ระบุว่า งบปกติน่าจะไม่มี เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งงบไว้ เพราะไม่มีใครคิดว่าจะเกิด ตนเข้าใจว่า อย่างนั้น จึงต้องหารือกับสำนักงบประมาณว่า มีแหล่งเงินจากที่ใดบ้าง พร้อมกับกล่าวว่า แม้วงเงินในการเยียวยาจะสูง แต่ตนคิดว่า มีหลายวิธีที่จะแก้ไข ซึ่งต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมที่ดิน มาแนะนำว่า จะหาทางแก้อย่างไร

ทั้งนี้นายปกรณ์ ส่วนประเด็นปัญหาด้านกฎหมายมีเพียงว่า ถ้าคำสั่งทางปกครองไม่ชอบก็เพิกถอนเสีย และหากเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไปแล้ว และมีผลกระทบสุจริตต่อบุคคลที่สุจริตก็ต้องเยียวยากันในทางกฎหมายมีเพียงแค่นั้น ส่วนในทางบริหารก็ไปว่ากัน

เมื่อถามว่าความเห็นของกฤษฎีกา เมื่อปี 2545 ที่เสนอให้ออกเป็นพระราชบัญญัติโอนเป็นที่ดินเอกชนสามารถทำได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การโอนที่ดินซึ่งเป็นที่ดินซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ต้องตามเป็นพระราชบัญญัติตามกฏหมายอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไร ซึ่งก็แล้วแต่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยว่า จะพิจารณาว่าทางใดเหมาะสมหรือสมควร ควรรอถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเหมาะสมกว่า

ส่วนการออก พ.ร.บ.ที่ดินจะยากกว่าการจ่ายเงินชดเชยหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่ได้ยากอะไร พ.ร.บ.โอนที่ธรณีสงฆ์ ทำกันบ่อย ๆ อยู่แล้วเพียงแต่ไม่เป็นข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง