หมอเจดโพสต์ถึง ภาวะลำไส้ขี้เกียจ ทำไมถึงขี้เกียจ สาเหตุของอาการท้องผูก

หมอเจดโพสต์ถึง ภาวะลำไส้ขี้เกียจ ทำไมถึงขี้เกียจ สาเหตุของอาการท้องผูก

วันที่ 11 ก.พ. 2568 | 20.33 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (11 ก.พ. 68) นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึง เมื่อพูดถึงอาการท้องผูก หลายคนคงนึกถึง “ยาระบาย” เป็นสิ่งแรก เพราะมันสะดวก ง่าย และเห็นผลไว แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้ยาระบายบ่อย ๆ หรือใช้ในปริมาณที่เกินความจำเป็น

อาจทำให้ร่างกายของเราต้องเจอผลกระทบที่ไม่คาดคิด มันเป็นการแก้ปัญหาแค่ในระยะสั้น ถึงจะช่วยให้เรารู้สึกเบาได้ชั่วคราว แต่ในระยะยาวก้จะส่งผลเสียตามมาได้ ดังนั้น วันนี้เรามาทำความเข้าใจกันครับว่า 5 ข้อเสียของยาระบาย ยาถ่าย มีอะไรบ้างที่เราควรรู้

1. ระบบขับถ่ายขี้เกียจ

ลองนึกว่าลำไส้ของเราเป็นเสมือนโรงงานที่ต้องทำงานทุกวันแบบไม่มีวันหยุด พอเราใช้ยาระบายไปนาน ๆ ก็เหมือนกับมีเครื่องจักรช่วยเบาแรง โรงงานก็เลยเริ่มขี้เกียจและอ่อนแอลง เพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการบีบตัวของลำไส้เหมือนเดิม ปัญหาก็คือ พอเลิกใช้ยาระบาย ลำไส้ดันยังติดนิสัยขี้เกียจ ทำให้เราอาจจะต้องพึ่งพายาระบายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะลำไส้ของเราดันลืมวิธีทำงานเอง ปัญหานี้เราเรียกว่า “ลำไส้ขี้เกียจ” นั่นเอง การพึ่งพายาระบายจนเกินไปจึงอาจทำให้ระบบขับถ่ายของเราเริ่มอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ สุดท้ายอาจจบลงด้วยการต้องพึ่งยาเป็นประจำจนกลายเป็นวงจรที่แก้ไขยาก

2.เสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ

ยาระบายบางชนิดจะทำให้ลำไส้ดูดซึมน้ำน้อยลง เพื่อช่วยให้ของเสียเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่มันจะทำให้ร่างกายเราสูญเสียน้ำออกมามากขึ้นด้วย การขาดน้ำจะทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย ปากแห้ง และอาจทำให้ผิวแห้งได้ด้วย บางครั้งการขาดน้ำมาก ๆ ยังอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด หรือปวดศีรษะได้ หากใช้ยาระบายบ่อย ๆ จึงควรระวังเรื่องนี้ และดื่มน้ำให้เพียงพอเสมอเพื่อช่วยชดเชยน้ำที่สูญเสียไป

3.ภาวะเสียสมดุลเกลือแร่

หลายคนอาจไม่รู้ว่าในร่างกายของเรามีเกลือแร่สำคัญหลายชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้อและประสาททำงานได้ปกติ การใช้ยาระบายอาจทำให้เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุลได้ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เกลือแร่เหล่านี้สำคัญมากกับการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท หากเกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุล เช่น โพแทสเซียมต่ำ อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว หรือมีอาการใจสั่นได้เลยทีเดียว ดังนั้นการใช้ยาระบายบ่อย ๆ อาจเป็นตัวการให้ร่างกายของเราเกิดอาการเจ็บป่วยแบบที่พูดไปก็ได้นะครับ

4. เสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบของลำไส้

การใช้ยาระบายบ่อย ๆ โดยเฉพาะยาระบายที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ อาจทำให้ลำไส้เกิดการระคายเคืองหรืออักเสบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าอยู่แล้ว หากใช้ยาระบายบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น บางคนอาจมีอาการปวดท้องเป็นประจำ หรือรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง และเมื่อใช้ยาระบายเป็นระยะเวลานาน ความไวต่อการระคายเคืองของลำไส้จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ความรู้สึกไม่สบายท้องกลายเป็นเรื่องปกติ

5.ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

การใช้ยาระบายต่อเนื่อง และใช้นานเกินไป อาจมีผลกระทบที่เราไม่เคยคิดถึง เช่น การสูญเสียสมดุลของฮอร์โมน ความผิดปกติของการเผาผลาญ หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลำไส้อุดตัน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ยาระบายบ่อย ๆ ยังอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome - IBS) ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูกเป็นระยะเรื้อรัง คนที่ติดยาระบายก็จะพบปัญหาสุขภาพเรื้อรังตามในระยะยาวได้บ่อยๆ ทางที่ดีที่สุดคือการเลือกใช้ยาระบายในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และหากมีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมกว่านะครับ

หมอเจดฝากเป็นข้อคิดทิ้งท้ายด้วยว่า ทั้งหมดนี้คือ 5 ข้อเสียของยาระบายที่อยากให้ทุกคนได้รู้กันครับ การใช้ยาระบายไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่างที่เราเห็นว่าการใช้มากไปหรือใช้อย่างไม่ระวัง อาจทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกายได้ในระยะยาว ทางที่ดีที่สุดคือควรแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการเติมจุลินทรีย์ที่ดีหรือโพรไบโอติกส์ในลำไส้นะครับ และหากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ อย่าลืมดูแลตัวเองและลำไส้ให้แข็งแรงอยู่เสมอนะครับ เพราะลำไส้ดีอะไรก็ดีครับ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะ