“นายกฯ” สั่ง “คมนาคม” เตรียมแผนรับมือภัยพิบัติให้ชัด อย่าการจราจรเป็นอัมพาตอีก หลังแผ่นดินไหวทำรถติดไปทั่ว ผู้คนเดินทางลำบาก ขณะที่ อาฟเตอร์ช็อกเขย่าไปแล้วกว่า 100 ครั้ง
เช้าวันนี้ (29มี.ค.68) นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหว ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการรกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกุลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ปลัดกระทรวงคมนาคม และ ผู้แทนทหาร เป็นต้น
ทันทีที่เริ่มการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้ทวงถามเรื่องการแจ้ง SMS เตือนภัยจากเหตุแผ่นดินไหว ที่มีความล่าช้า และ ไม่ทั่วถึง รวมทั้งข้อความที่ส่งก็ไม่มีประโยชน์มากนัก นอกจากคนไทยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงนักท่องเที่ยว หรือ ชาวต่างชาติ อยู่ในเหตุแผ่นดินไหว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปภ. กสทช. เร่งแก้ไข แม้จะเข้าใจดีว่าเหตุแผ่นดินไหว ยังไม่มีเทคโนโลยีใดแจ้งเตือนล่วงหน้าได้
ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ลองเลขาธิการ กสทช. ได้ชี้แจงว่า ได้รับข้อมูล และส่งต่อ SMS ให้กับประชาชนในเวลา 14:44 น. โดยส่งได้เพียงแสนถึง 2 แสนหมายเลขเท่านั้น ซึ่งเราเพิ่งได้ Cell Broadcast มาเมื่อเดือนกรกฎาคม ( วิธีการส่งข้อความสั้น ไปยังผู้ใช้ โทรศัพท์มือถือหลายราย ในพื้นที่ที่กำหนด) ซึ่งยังไม่สามารถใช้งานได้ โดยในชั่วโมงแรก กสทช. ได้ทยอยส่ง sms ไปรวมทั้งหมด 10 กว่าล้านหมายเลข โดยทยอยส่งทีละ 200,000 หมายเลข นอกจากนี้ได้สอบถาม ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์ทรู และ AIS โดยโอเปอร์เรเตอร์ แจ้งว่า พยายามส่งข้อความภายในครั้งเดียวให้ได้ มากที่สุด ซึ่งหาก ส่ง SMS มากกว่า 3 ล้านหมายเลข ต้องใช้เวลามากถึงจาก 5-6 ชั่วโมง โดยมีการส่ง sms ไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กทม. และในจังหวัดอื่นอีก 4 จังหวัด.
ขณะที่ อธิบดี ปภ. ระบุว่า ครั้งแรกได้ส่งข้อความให้กับกสทช. แจ้งให้ประชาชนได้ทราบถึงการเข้าอาคารได้ในกรณีที่จำเป็น เนื่องจากมี After Shock อยู่ประชาชนก็จะลงมาอย่างเร่งด่วน อาจจะไม่ได้กลับเข้าไปหยิบทรัพย์สิน และในครั้งที่ 2 และ 3 ปภ. แจ้งไปในเวลา16.07 เวลา 16.09 และ ในเวลา 16.44 น. ปภ.ส่งข้อความให้ กสทช. แจ้งประชาชนกลับเข้าอาคารได้
สำหรับเส้นทางสัญจรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ กทม. นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้ตรวจสอบโครงสร้างเส้นทางในความรับชอบ ปัจจุบันเปิดให้บริการได้เกือบทั้งหมด ยกเว้น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพู และ ทางขึ้น-ลงทางด่วนด่านดินแดง หากตรวจสอบความปลอดภัยเรียบร้อยแล้วจะเปิดให้บริการทันที
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กำชับกระทรวงคมนาคม วางแนวทาง และ จัดทำแผนให้ชัดเจนในการแก้ปัญหาจราจร กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ชัดเจนว่า หากเส้นทางใดขัดข้อง จะสามารถใช้เส้นทางใดแทนได้บ้าง เพื่อไม่ให้การจราจรเป็นอัมพาตแบบเมื่อวาน
ขณะที่ นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมธรณีวิทยา รายงานสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อก ว่า หลังเหตุแผ่นดินไหว ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกประมาณ 100 กว่าครั้ง ความรุนแรงลดน้อยลงตามลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งแนวโน้มการเกิดอาฟเตอร์ช็อกจะเลื่อนไปทางทิศเหนือ ทางหิมาลัยและจีน ห่างไกลประเทศไทยออกไปกว่าเดิม จึงยืนยันว่า มีผลกระทบกับประเทศไทยน้อยลง หากความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 5 ก็แทบจะไม่สามารถรับรู้ได้