อินเดียพบเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส ในผู้ป่วยที่เคยติดโควิด-19

อินเดียพบเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส ในผู้ป่วยที่เคยติดโควิด-19

View icon 424
วันที่ 10 พ.ค. 2564 | 18.30 น.
7hdร้อนออนไลน์
แชร์
วานนี้ (9 พ.ค.64) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงกรณีที่ ดร.อักษัย นาอีร์ จักษุแพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในนครมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ของอินเดีย เปิดเผยกับสื่อว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว รวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างพักฟื้น และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มีการติดเชื้อรา มิวคอร์ไมโคซิส (mucormycosis) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื้อราดังกล่าวนั้นพบได้ยาก แต่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิคถึงร้อยละ 50

มิวคอร์ไมโคซิส เกิดจากการได้รับเชื้อราสกุล มิวคอร์ (mucor) ซึ่งมักพบอยู่ในดิน ต้นไม้ ปุ๋ยคอก รวมทั้งผลไม้และผักที่เน่าเสีย หรือแม้แต่ในจมูก และน้ำมูก ของคนสุขภาพดี อีกทั้งยังสามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว

สาเหตุของการติดเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิสนั้น มาจากร่างกายถูกกระตุ้นจากการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19ที่อยู่ในขั้นวิกฤต เพื่อลดอาการอักเสบของปอด แต่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งที่เป็นเบาหวาน และไม่ได้เป็นเบาหวาน

ดร.นาอีร์ เปิดเผยอีกว่า ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยราว 40 คน เกิดอาการติดเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส ซึ่งผู้ป่วยหลายคนเป็นโรคเบาหวานที่หายจากโควิด-19 และพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาดวงตาออกเพื่อไม่ให้เชื้อราลามขึ้นสู่สมอง

นอกจากนี้แพทย์ในแผนกหู คอ จมูก ของโรงพยาบาลในนครมุมไบ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสมากถึง 24 คนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากที่ปกติจะพบผู้ติดเชื้อราชนิดนี้เพียงประมาณ 6 คนต่อปี โดยในจำนวนนี้ 11 คน ต้องผ่าตัดดวงตา และอีก 6 คนเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังพบว่าในระหว่างเดือน ธ.ค.63 ถึงเดือน ก.พ. 64 มีแพทย์ในกรุงนิวเดลี นครมุมไบ เมืองบังกาลอร์ เมืองไฮเดอราบัด และเมืองปูเน รายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อรามิวคอร์ไมโคซิสจำนวนมากถึง 58 ราย โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักติดเชื้อรานี้หลังหายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์

ดร.นาอีร์ ระบุเพอ่มเติมว่า เขาและแพทย์คนอื่นๆ ต่างรู้สึกประหลาดใจอย่างมากกับการพบผู้ติดเชื้อราดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 และคนที่ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสมักมีอาการคัดจมูก และมีเลือดไหลออกจากจมูก รวมทั้งอาจมีอาการตาบวมและปวด เปลือกตาตก สายตาพร่ามัว และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด นอกจากนี้ยังอาจมีจุดคล้ำบริเวณรอบจมูกได้ด้วย ซึ่งแนวทางการรักษาจะใช้การฉีดยาต้านเชื้อราเข้าหลอดเลือดดำ ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยยามีราคาเข็มละ 3,500 รูปี หรือประมาณ 1,500 บาท และถือเป็นยาชนิดเดียวที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

ทั้งนี้ คนไข้ส่วนใหญ่มักมารับรักษาที่ช้าเกินไป จนสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ทำให้แพทย์ต้องผ่าตัดดวงตาออกเพื่อยับยั้งการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามขึ้นไปที่สมอง และในรายที่อาการหนักจะสูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง และในบางรายแพทย์ต้องผ่าตัดเอากระดูกขากรรไกรออกเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ