ขณะเดียวกัน สตีเฟน ลูบี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด กล่าวว่า ไวรัสนิปาห์แตกต่างจากไวรัสอื่นๆ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้จากคนสู่คน โดยมีอัตราการแพร่เชื้อที่ต่ำ แต่อัตราเสียชีวิตสูง โดยผู้ติดเชื้อ 70 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิต อีกทั้งมีความกังวลว่าในอนาคตเชื้อไวรัสอาจกลายพันธุ์ได้ตามสภาพแวดล้อม และอาจทำให้เชื้อมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ขณะนี้ วิธีรักษา ป้องกัน และวัคซีนอยู่ในกระบวนการศึกษา ยังไม่มียาที่รักษาโดยตรงยังคงต้องรักษาตามอาการ จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาความเสี่ยงในการระบาด และการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส
ผศ.ดร.เทกกุมการา สุเนดัน อนิช จากวิทยาลัยแพทย์ในเมืองติรุวานานตาปูรัม รายงานว่า จากกรณีเด็กชายชาวอินเดียที่เสียชีวิต ยังไม่สามารถหาที่มาของการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ เนื่องจากเด็กชายคนดังกล่าวมีอาการป่วยหนัก จนไม่สามารถบอกได้ว่ากินหรือทำอะไรมาก่อนที่จะมีอาการป่วย โดยทางโรงพยาบาลได้มีการตรวจหาเชื้อผู้ที่ใกล้ชิด สัมผัสเสี่ยงสูง สมาชิกในครอบครัว 30 คน รวมไปถึงบุคลากรณ์ทางการแพทย์ที่ดูแลเด็กคนดังกล่าว และบุคคลที่คาดว่าเกี่ยวข้องราว 251 คน และเก็บตัวอย่างมาตรวจหาเชื้อ พบว่าเป็นลบ
อนิช ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ไวรัสนิปาห์ พบแล้ว 2 สายพันธุ์ โดยมีการพบครั้งแรกในปี 2542 ที่มาเลเซีย ต่อมาพบในบังกลาเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเชื้อดังกล่าวพบได้ในหมูและค้างคาวกินผลไม้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เด็กชายที่ติดเชื้ออาจได้รับประทานอาหาร หรือผลไม้ที่ปนเปื้อนน้ำลายค้างคาว และอุจจาระ