ผลสำรวจชี้ ปีหน้าค่าครองชีพทั่วโลกยังพุ่งต่อ

ผลสำรวจชี้ ปีหน้าค่าครองชีพทั่วโลกยังพุ่งต่อ

View icon 102
วันที่ 7 ธ.ค. 2565 | 17.26 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
World Economic Forum ร่วมกับ  Ipsos ทำการสำรวจมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคาดการณ์ทั่วโลก โดยพึ่งเผยแพร่เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา พบข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง #เศรษฐศาสตร์ตลาดสด จะนำมาเล่าให้ฟัง

ผลสำรวจชิ้นนี้จัดทำโดยใช้ข้อมูลจาก 36 ประเทศระหว่างวันที่ 21 ต.ค. - 4 พ.ย. 2565 ผ่านการสัมภาษณ์ประชากรมากถึง 24,471 คน รวมทั้งเก็บข้อมูลจากคนในประเทศไทยด้วย

ผลสำรวจพบว่า ในปีหน้าประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่กังวลเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ จากปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และภาษีที่ต้องจ่าย ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งก่อผลกระทบให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจยังเชื่อว่า ปัญหาว่างงานจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

ผลสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่

• 69% ของประชากรเชื่อว่า เงินเฟ้อในปีหน้ายังจะสูงขึ้นต่อไป โดยผลสำรวจพบว่าสูงสุดในประเทศสิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา

• 61% ของประชากรเชื่อว่า สถานการณ์ว่างงานในประเทศตัวเองจะสูงขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า

• 79% ของประชากรเชื่อว่า ค่าจ้างแท้จริงของตัวเองในปีหน้าจะลดลง มีเพียง 12% ที่เชื่อว่าค่าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ

• 32% ของประชากรเห็นว่าปีหน้าตัวเองจะมีคุณภาพชีวิตลดลง โดยมีถึง 37% ของประชากรที่มองว่าในปีหน้ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสำหรับการครองชีพมีแนวโน้มเหลือน้อยลง

• 43% ของประชากรระบุว่า ตนเองมีความคิดจะหางานใหม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด 6 เดือนข้างหน้า จากค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายด้านสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าเดินทางที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ดีจากผลสำรวจ คือมุมมองประชากรต่อสถานการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อน ตอน มิ.ย. ปีนี้ เวลานั้นมีประชากรมากถึง 3 ใน 4 ที่มองว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นตลอด 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ในผลสำรวจรอบนี้ จำนวนประชากรที่แสดงความกังวลมีจำนวนลดลงเหลือที่ 69%

ต่อข้อซักถามว่า อะไรคือสาเหตุของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มากกว่าปัจจัยภายใน มีประชากรมากถึง 74% เห็นว่าสาเหตุของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น มาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และ 70% ของประชากรเห็นว่าเกิดจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่น้ำหนักจากปัจจัยในประเทศอย่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศตัวเอง หรือนโยบายของรัฐบาลในประเทศตัวเอง มีผู้ตอบที่ระดับ 68% ที่น่าสนใจคือ มีคนมองว่าปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบันเกิดจากปัญหาโควิด 19 น้อยลง โดยมีผู้ตอบอยู่ที่ระดับ 61%

ทั้งนี้ แม้ปัญหาภาวะยากจนทั่วโลกกำลังลดลงหรือดีขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว แต่ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้น ทำให้สถานการณ์ความยากจนฟื้นตัวช้ากว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนทั่วโลก โดยรายงานจาก UNDP ระบุว่า ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนของปีนี้ (มี.ค.-มิ.ย. 2565) มีประชากรในประเทศกำลังพัฒนาตกสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นถึง 71 ล้านคน หลักๆ มาจากปัญหาราคาอาหารและพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยพบว่าปัญหาความยากจนที่เกิดจากเงินเฟ้อช่วงนี้ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผลกระทบจากโควิดในระยะก่อนเสียอีก

ผลของราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น ทำให้คนตกอยู่ในสภาวะยากจน อดอยากมากขึ้น โดยเฉพาะประชากรในประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบสูงกว่าประเทศอื่น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านการคลัง งบประมาณ และหนี้สาธารณะสูงกว่า

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพในปัจจุบันทำให้แผนการณ์ขจัดผู้ตกใต้ “ความยากจนขั้นรุนแรง” หรือ “ความยากจนสุดขีด” (extreme poverty) ให้หมดไปภายในปี 2030 ต้องยืดออกไป ทั้งนี้ผู้ตกอยู่ใต้ “ความยากจนขั้นรุนแรง” หรือ “ความยากจนสุดขีด” คือผู้ที่มีรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อวันต่ำกว่า 2.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจากคำอธิบายของธนาคารโลก 2.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ คือระดับความสามารถในการดำรงชีพขั้นต่ำสุดที่มนุษย์สามารถดำรงชีพได้

ผลของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารโลกประเมินว่า ในปี 2030 จะยังมีประชากรโลกตกอยู่ในสถานะ “ยากจนขั้นรุนแรง” หรือ “ยากจนสุดขีด”  มากถึง 574 ล้านคน หรือคิดเป็นกว่า 7% ของประชากรโลกทั้งหมด

สำหรับประเทศไทย คนจนก็ได้ผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคนรวยเช่นกัน รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่าผู้มีรายได้สูง โดยสำหรับคนจน เงินส่วนใหญ่หรือกว่า 45% ของรายได้ ถูกใช้จ่ายสำหรับบริโภคอาหาร ขณะที่คนรวยมีค่าใช้จ่ายจากอาหารคิดเป็น 27% ของรายได้เท่านั้น การที่ราคาอาหารแพงขึ้น จึงส่งผลต่อประชากรรายได้น้อยมากกว่า

#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด เห็นว่าจากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาเงินเฟ้อที่ยังไม่จบง่ายๆ แม้มีแนวโน้มชะลอตัว แต่ปีหน้าเงินเฟ้อจะยังอยู่กับเราต่อไป โดยคนยากจน คนรายได้น้อยเสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง