คอลัมน์หมายเลข 7 : รฟท.ชะลอเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้านบาท

View icon 89
วันที่ 10 ม.ค. 2566 | 20.14 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - หลังจากโครงการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อกว่า 33 ล้านบาท ได้ถูกตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงคัดค้านอย่างมากมายในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดมีเอกสารระงับโครงการเผยแพร่ออกมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยออกไปแบบไม่มีกำหนด ติดตามในคอลัมน์หมายเลข 7 กับ คุณสุธาทิพย์ ผาสุข

นี่เป็นเอกสารด่วน ระงับงานซื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามโดย ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากที่โครงการนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง และมีเสียงคัดค้านการใช้งบประมาณกว่า 33 ล้านบาท ทั้งจากภาคประชาสังคม และการเมือง

เนื้อหาในข้อมูลเอกสาร ไม่ระบุถึงสาเหตุที่ต้องระงับโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่สิ่งนี้ก็เป็นเหมือนสัญญานที่แสดงให้เห็นว่า เสียงของประชาชน ทำให้การรถไฟฯ ยอมเบรกโครงการ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อ้างเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน จนต้องจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบวิธีเฉพาะเจาะจง กับบริษัทซึ่งเป็นคู่ความคดีพิพาทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการทำงานเพิ่มเติม กว่า 7,000 ล้านบาท จนมีการตั้งข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากล

มีความเห็นจากผู้ที่ติดตามการบริหารงาน การใช้งบประมาณของภาครัฐ และต่อต้านการทุจริตคอรัปชันในทุกรูปแบบ ว่าภายใต้เนื้อหาของเอกสารด่วนในครั้งนี้ ควรต้องขยายผลตรวจสอบในเชิงลึก เพื่อไม่ให้สังคมหลงประเด็น โดยเฉพาะปัญหาการบริหารงานที่ผิดพลาด ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยกับคอลัมน์หมายเลข 7 ว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏ กระบวนการตรวจสอบคงไม่สามารถบิดเบือน หรือ วินิจฉัยเบี่ยงเบนประเด็นได้

หากย้อนกลับไปในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ" เป็นชื่อ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ได้ถูกจับจ้องเข้ามาอยู่ในสปอตไลต์ของสังคม เนื่องจากมีเอกสารแจ้งข่าวของบริษัท ยูนิคฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 33 ล้านบาท แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดร่างขอบเขตงานปรากฎเป็นที่สาธารณะ จนเกิดแรงกระทุ้งจากหลายภาคส่วน จนการรถไฟฯ ต้องชี้แจงรายละเอียดการใช้งบประมาณผ่านช่องทางสื่อ แต่ไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ และมีเพียงเจ้ากระทรวงคมนาคม อย่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่ถูกสื่อมวลชน จี้ให้ตอบคำถามโครงการที่เกิดครหาส่อว่าจะไม่โปร่งใสเท่านั้น