"วิษณุ" ชี้ เดือน ก.พ. ยังไม่ควรยุบสภาฯ ต้องให้โอกาสพรรคเล็ก ยันไม่มีถ่วงเวลา

"วิษณุ" ชี้ เดือน ก.พ. ยังไม่ควรยุบสภาฯ ต้องให้โอกาสพรรคเล็ก ยันไม่มีถ่วงเวลา

View icon 83
วันที่ 31 ม.ค. 2566 | 16.46 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (31 ม.ค.66) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า

นายวิษณุ เปิดเผยว่า เรื่องที่ตนได้พบกับนายกฯ นั้น เล่าไม่ได้ เป็นเรื่องราชการ และไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่รองนายกฯ จะคุยกับนายกฯ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สำหรับเรื่องการเลือกตั้ง ตนได้พูดในที่ประชุมครม. หมดแล้ว โดยตนได้พูดไปเหมือนกับที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับทราบ เพราะเป็นปัญหาของทุกพรรค เป็นอันว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ไม่สามารถยุบสภาฯ ได้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แจ้ง

"ไม่ใช่ว่าตื๊อ ไม่ใช่ว่ายื้อ ไม่ใช่ว่าถ่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น แต่หาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถแบ่งเขตได้เร็วกว่านั้น ก็จะเป็นอิสระได้เร็วกว่านั้น ขณะนี้ กกต. ขอเวลาประมาณ 1 เดือน หรือ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนเวลาที่ กกต. ขอ 45 วันนั้น 15 วันหลังได้ให้เวลาพรรคเล็กทำไพรมารีโหวตและจัดตั้งสาขาพรรค” รองนายกฯ ระบุ

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กกต. ได้จัดทำร่างระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งได้ส่งมาให้ทางครม. พิจารณาแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการทำไพรมารีโหวต ฉบับที่ 3 การตั้งสาขาพรรคการเมือง และ ฉบับที่ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น โดย 3 ฉบับจะจัดทำเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนอีก 1 ฉบับซึ่งเป็นประกาศใหญ่จะเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 กกต.จะส่งเรื่องไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด เปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าต้องใช้เวลาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการการเลือกตั้งได้

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะยุบสภาฯ ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นสมมติฐานที่ กกต. ใช้เตรียมพร้อมการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่อย่างที่พูด หากแบ่งเขตการเลือกตั้งเสร็จแล้ว จะยุบช้ายุบเร็วก็แล้วแต่ ถ้าพูดเอาให้เขาสะดวกและทุกฝ่ายสะดวก ซึ่งรวมถึงพรรคเล็ก ก็ต้องบวกอีก 15 วัน จึงกลายเป็น 45 วัน แต่ถ้าไม่เอาสะดวก 30 วันก็ยุบได้ แต่จะยุ่งหน่อย เขาก็โยนหินถามทางเหมือนกัน เพื่อที่จะดูว่าพรรคเล็กว่าอย่างไร ส่วนพรรคใหญ่ไม่เดือดร้อน เพราะซุ่มทำไพรมารีโหวตไว้อยู่แล้ว แต่พรรคเล็กยังไม่ทำผ่านไพรมารีและยังไม่พร้อม เพราะไม่รู้ว่าเขตอยู่ตรงไหน ดังนั้นพรรคเล็กจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม สมมติว่าหากยุบสภาฯ วันที่ 3 มีนาคม 2566 เขาก็แย่ เพราะวันที่ 5 มีนาคม 2566 กกต.จะออกประกาศวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครมันก็จะสมัครไม่ได้และไม่ทัน ดังนั้นเพื่อให้เกียรติและโอกาสแก่พรรคเล็ก กกต. จึงช่วยบวกไปอีก 15 วัน แต่ถ้าไม่คิดไม่เอื้อไม่เฟื้อกัน เอาเลย ทำเลยก็ได้ แต่ 30 วัน อย่าทำเลยเด็ดขาด ตนจึงบอกว่า ยกเดือนกุมภาพันธ์ให้เขาไปทั้งเดือน

เมื่อถามว่านิยามของพรรคเล็กคืออะไร นายวิษณุ กล่าวว่า พรรคเล็กคือพรรคที่ยุ่งเกี่ยวกับสูตรการหาร 100 หรือ 500 หรือพรรคที่ปัจจุบันมี สส. 1-2 คน เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้เข้ามาจาก สส.เขตเลย คราวนี้ไม่ได้แล้ว จึงต้องให้โอกาสเขาหน่อย ว่าจะส่ง สส.เขต หรือ สส.บัญชีรายชื่อหรือไม่ จึงต้องให้เวลาเขา 15 วันแต่ถ้าไม่นึกถึงหัวอกเขา วันที่ 1 มีนาคม 2566 ก็ยุบสภาฯ ได้ แต่ถ้าพรรคเกิดใหม่คือ พรรคใหญ่ทั้งนั้น เพราะในยามอย่างนี้ ยังอุตส่าห์เกิดพรรคอีก ต้องแน่ใจว่าตัวเองเป็นพรรคใหญ่ สรุปไม่ได้ตื๊อไม่ได้ยื้อ อยากให้ไปเร็วจะตาย

ส่วนที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งข้อสังเกตเรื่องการคำนวณ จำนวน สส. โดยนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ เพราะ กกต. เป็นผู้จัดทำ โดยหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับเพื่อคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่าว่าแต่ต่างด้าวเลย คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ไง กรุงเทพฯ จาก 36 เขต จึงลดเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมามีต่างดาวจึงต้องนำออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง