วันนี้ (1 ก.พ. 66) จากประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ณ สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง พื้นที่อำเภอเมืองราชบุรี สู่การก่อสร้างสะพานคานขึง สำหรับรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย....
สำหรับการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล เป็นการสร้างคู่ขนานกับสะพานรถไฟเดิมหรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้
ก่อนการก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณสะพาน พบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูก
ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 บริเวณเดียวกับพื้นที่ก่อสร้างสะพาน หากจะก่อสร้างสะพานในรูปแบบเดิม จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
ทีมก่อสร้างโครงการฯ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด จึงเป็นที่มาของการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษ ให้โครงสร้างสะพานรถไฟใช้คานขึง ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง แทนรูปแบบเดิมที่มีตอม่ออยู่กลางแม่น้ำ โดยรูปแบบการสร้างสะพานรถไฟแบบคานขึง (Extradosed Bridge) เรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง”
นับเป็นงานก่อสร้าง ที่ท้าทายทีมวิศวกรของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ได้มุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้สะพานคานขึงสำหรับรถไฟแห่งแรกของประเทศไทยมีความสมบูรณ์แบบที่สุด สะพานคานขึง แห่งนี้ มีความยาวสะพานรวม 340 เมตร
โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองมีความยาว 160 เมตร ขนานไปกับสะพานจุฬาลงกรณ์
สำหรับสถานะล่าสุด การก่อสร้างงานโยธา รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล มีกำหนดแล้วเสร็จ ในเดือนเมษายน 2566
นอกจากความท้าทายด้านการก่อสร้างแล้ว นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเชื่อมั่นว่า สะพานรถไฟแห่งนี้ จะเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่มีความสวยงาม และเรื่องราวในอดีต จะนำพาผู้คน ให้เดินทางมาท่องเที่ยว เพื่อศึกษา และหวนรำลึกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์