สภาล่มหรือไม่ วันอภิปรายตามมาตรา 152 นายกฯ ไม่หวั่น มีช่องทางชี้แจงประชาชนอีกมาก

สภาล่มหรือไม่ วันอภิปรายตามมาตรา 152 นายกฯ ไม่หวั่น มีช่องทางชี้แจงประชาชนอีกมาก

View icon 67
วันที่ 6 ก.พ. 2566 | 12.22 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (6 ก.พ.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุ ไม่ได้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่พบกันในระหว่างการประชุมครบรอบคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพระชนมายุ 8 รอบ สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องสภาล่ม หลังนายชวนมีคำแนะนำ ถ้านายกรัฐมนตรีอยากให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบในสภาฯ ต้องดูแลองค์ประชุมให้ครบ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้ย้ำในฐานะนายกรัฐมนตรี บอกกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ที่นั่งประชุมอยู่ด้วยกันทุกคนว่าให้ร่วมมือกันในสภาฯ ซึ่งถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนเองไปแล้ว แต่เท่าที่ทราบเป็นปัญหาเรื่องกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน จึงขอร้องให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ในระยะเวลาที่เหลืออยู่อย่างจำกัด อะไรที่ทำได้หรือผ่านกฎหมายได้ก็ขอให้ทำ ส่วนเรื่องเคลียร์ใจพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้กลับมาจับมือร่วมกันทำงานในสภาฯ นั้น ได้พูดมา 10 รอบแล้ว

สำหรับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ หากเกิดปัญหาสภาล่มจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน กฎหมายกำหนดอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น ส่วนตัวไม่ได้ขัดแย้งอะไร ใครมีสิทธิ์อภิปรายก็ทำไป ใครชี้แจงก็ทำไป ส่วนใหญ่เป็นไปตามกฎระเบียบของสภาฯ เมื่อถามว่าสภาล่มจะทำให้รัฐบาลเสียโอกาสในการชี้แจงต่อประชาชนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงว่า "ก็แล้วแต่ ยังมีช่องทางอื่นในการชี้แจงอีกมาก"

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงปัญหาสภาล่ม ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยออกมาตัดพ้อการทำหน้าที่ของ สส. จนถึงขั้นเรียกร้องให้เกิดการยุบสภาฯ ว่าหากไม่เล่นเกมการเมือง สภาฯ ก็เดินหน้าต่อได้ เรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยรู้ซึ้งดี เวลาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะเข้าสู่การพิจารณา สส.จะไม่แสดงตน ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงต้องมีท่าทีตอบกลับบ้าง เพราะเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ส่วนท่าทีจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูการพิจารณากฎหมายของสภาฯ ที่จะเกิดขึ้น

ส่วนข้อห่วงใยเรื่องสภาล่ม ในช่วงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ นายอนุทิน มองว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะทำให้สภาล่มในช่วงการอภิปราย เพราะเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังและชี้แจง ไม่เช่นนั้น หากฝ่ายค้านไปใช้เวทีนอกสภาฯ เปิดอภิปรายก็จะกลายเป็นปัญหาอีก

เมื่อถามย้ำว่า สส.พรรคภูมิใจไทยจะแสดงตนเพื่อให้องค์ประชุมครบ เปิดการอภิปรายได้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า "ในเบื้องต้น ถ้าไม่มีใครมาทำอะไร ที่เป็นการกระทบต่อการทำงานของพรรคภูมิใจไทย เราก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีใครมากระทบ หรือมาทำอะไรที่ทำให้ความก้าวหน้าของกฎหมายพรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยเกมการเมือง ฟังทาง สส. มาเขาก็จะมี ท่าทีของเขา"

ทั้งนี้ นายอนุทิน ไม่สนใจผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ที่มีชื่อไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 ขอผู้ถูกสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า เพราะให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่หาเสียง เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย คาดว่าการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้