"ศรีสุวรรณ" บุกร้องผู้ว่าฯกทม. สอบปมเอื้อประโยชน์ บ.ใหญ่ เก็บค่าผ่านสะพานพระโขนง

"ศรีสุวรรณ" บุกร้องผู้ว่าฯกทม. สอบปมเอื้อประโยชน์ บ.ใหญ่ เก็บค่าผ่านสะพานพระโขนง

View icon 104
วันที่ 27 มี.ค. 2566 | 11.52 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
"ศรีสุวรรณ" บุกร้องผู้ว่าฯกทม. สอบเจ้าหน้าที่เอื้อประโยชน์ บ.อสังหาฯ เก็บเงินค่าผ่านทางสะพานพระโขนง ทางลัดเชื่อม ซ.สุขุมวิท 77 กับ ซ.ปรีดีพนมยงค์ 2 คาดตั้งแต่ปี 58 น่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้าน

ศรีสุวรรณบุกร้อง วันนี้ (27 มี.ค.66) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดพนักงานเจ้าหน้าที่ กทม.ที่เกี่ยวข้องกับการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง เขตวัฒนา แต่มีการเรียกเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ทั้งนี้สืบเนื่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง ได้ขออนุญาตสำนักการโยธา กทม.ก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษ โดยจัดทำรายงาน EIA ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว ทั้ง 2 โครงการ โดยได้ระบุไว้ในรายงานว่า ในการดูแล บำรุงรักษา ถนนภาระจำยอมบนโฉนดที่ดิน 8 แปลง และสะพานข้ามคลองพระโขนง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคริมถนน ฯลฯ นั้น หากเกิดกรณีสะพานชำรุดเสียหาย นิติบุคคลอาคารชุดจะเป็นผู้ดำเนินการประสานไปยังสำนักงานเขตวัฒนา เพื่อซ่อมแซมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ถือครองกรรมสิทธิ์เองทั้งสิ้น รวมทั้งรับผิดชอบค่าไฟฟ้าส่องสว่างที่เกิดขึ้นในที่ดินภาระจำยอมนั้นด้วย

ในการขออนุญาตก่อสร้าง บริษัทเอกชนนำที่ดินถนนภาระจำยอมมายื่นร่วมในการขออนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินภาระจำยอมทั้ง 8 แปลง ได้ยินยอมให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้าใช้ประโยชน์ถนนภาระจำยอม เพื่อเป็นเส้นทางลัดเชื่อมระหว่างถนนซอยสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) ผ่านถนนของการทางพิเศษฯออกสู่ถนนซอยปรีดีพนมยงค์ 2 ได้ และต้องแจ้งให้บุคคลภายนอกทราบว่าถนนภาระจำยอมเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้สัญจรได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 14 ของระเบียบ กทม.ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง 2549

แต่เมื่อเปิดใช้สะพานดังกล่าวตั้งแต่ปี 58 กลับมีการตั้งป้อมเรียกเก็บเงินค่าผ่านสะพานและถนนภาระจำยอมดังกล่าว จำนวน 10-20 บาท มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาทแล้ว โดยเป็นที่สงสัยว่าสำนักงานเขตวัฒนา สำนักการโยธา และหรือ กทม. ไม่ได้ดำเนินการใดๆหรือบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน EIA เลยหรือไม่ หากไม่ดำเนินการอาจถือได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของ กทม.มีการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร