ก้าวไกล รัฐบาลบนเส้นด้าย กับสารพัดปัญหา

View icon 64
วันที่ 26 พ.ค. 2566 | 07.01 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - แม้จะมีเอ็มโอยูร่วม 8 พรรค 313 เสียง ไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า ความเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นำโดย พรรคก้าวไกล กลับแขวนอยู่บนเส้นด้าย หรืออาจกลายเป็นแค่ปราสาททราย ที่ถูกคลื่นซัดพังได้ตลอดเวลา จากปมร้าวตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จนถึงขณะนี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ระหว่าง พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย จนถึงขั้นกองเชียร์เสนอแยกทางกันเดินเลยทีเดียว

ก้าวไกล รัฐบาลบนเส้นด้าย กับสารพัดปัญหา
มาไล่เรียงดูกันว่า ทำไมหลังลงนามในเอ็มโอยูร่วมกันเพียงแค่ 4 วัน เรียกว่า ก้นหม้อข้าวไม่ทันดำ ปัญหาสารพันก็ตามมาแบบรัว ๆ สะท้อนความเปราะบางในการจับมือกันระหว่าง 8 พรรค

เริ่มตั้งแต่วิวาทะระหว่าง ผู้พันปุ่น นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กับ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จากความไม่พอใจที่ คุณศิธา ไปสวมบทนักข่าวสอบถามเรื่อง Advance MOU จนเกิดการถามหามารยาทจากคุณศิธา

เรียกว่า ขิงก็รา ข่าก็แรง เพราะ คุณศิธา ไม่ยอมเหมือนกัน โต้กลับว่า ไม่กลัวเสียมารยาท กลัวการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นข้อความที่ยิ่งเพิ่มดีกรีอารมณ์เดือดให้กับคุณหมอชลน่าน

ถึงกับออกปาก "ถ้าชกได้ ชกไปแล้ว" พร้อมให้ก้าวไกลพิจารณาจะเอาอย่างไร ระหว่าง 6 เสียง กับ 141 เสียง กระทั่ง คุณศิธา ออกมาโพสต์ พร้อมลาออกจากพรรคไทยสร้างไทย หากเป็นอุปสรรคในการร่วมรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็เงียบไปแล้ว

ล่าสุด ยังไม่จบ เพราะเมื่อกลางดึกเมื่อคืน ผู้พันปุ่น โพสต์แจงเรื่องนี้บอกว่า เขาเชียร์พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยิ่งกว่าเชียร์พรรคตัวเองมาตลอด อยากให้รักกัน แพ็กกันให้แน่นเท่านั้น แต่ถูกด่าไม่มีมารยาท จะต่อยบ้าง ขู่ 141 เสียงบ้าง จะทบทวนทั้งที่เขาไม่ได้พูดเพื่อพรรคตัวเอง

ที่สำคัญ ผู้พันปุ่น บอกว่า พออยากเป็นประธานสภาฯ ปล่อยลูกน้องออกมาโต้ผ่านสื่อพรึ่บ เต็มฟีดทุกแพลตฟอร์ม แย่งชิงตำแหน่งกันแบบไม่อายลุง ทำไมไม่ถามหามารยาทบ้าง

ก้าวไกล กอดตำแหน่ง ปธ.สภาฯ ต้องเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง
นี่จึงถูกโยงมาถึงประเด็นตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ยังไม่จบง่าย ๆ เมื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยัน นั่งยัน นอนยันว่า ยังไง๊ ยังไง ก็ต้องเป็นของก้าวไกล เพราะมีวาระที่ต้องผลักดัน โดยมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทย จะไม่ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลเพราะเรื่องนี้ ไปฟังคำยืนยันจาก คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

เพื่อไทย โพสต์ย้ำ ไม่ยอมถอยตำแหน่ง ปธ.สภาฯ
เรียกว่าก้าวไกลมาเป็นแพ็ก ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ก็ไม่แผ่วเหมือนกัน มีการโพสต์ตอกย้ำว่า ไม่ยอมยกตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับ พรรคก้าวไกล โดยให้เหตุผลว่า ประธานสภาฯ ควรเปิดทางผลักดันทุกนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลให้สำเร็จ ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดสรรตำแหน่งอย่างเป็นธรรม โดยระบุว่า จะนำกรณีพรรคเพื่อไทยเคยได้ สส. อันดับหนึ่ง ก็ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ มาเทียบเคียงไม่ได้ เนื่องจากในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบเด็ดขาด และทิ้งท้ายไว้ว่า เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

ส่วน คุณประเสริฐ จัทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ชูคุณหมอชลน่านว่า เหมาะสมที่จะนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ เพราะมีประสบการณ์ แม่นข้อบังคับการประชุมสภาฯ

พูดถึงเรื่องประสบการณ์ เรามาเทียบตัวต่อตัว ระหว่างตัวเต็งนั่งประธานสภาฯ ของ 2 พรรค กันหน่อย เริ่มจาก เพื่อไทย แสดงความจำนงตั้งแต่แรก ไม่ขอเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะต้องการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ก็คือ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดีกรี สส. 6 สมัย

ส่วน พรรคก้าวไกล มีรายชื่อออกมา 3 คน ประกอบด้วย คุณณัฐวุฒิ บัวประทุม ว่าที่ สส.บัญชีรายชื่อ, คุณธีรัจชัย พันธุมาศ ว่าที่ สส.กทม. และ คุณปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ สส.พิษณุโลก โดยทั้งหมดเป็น สส. รวมสมัยนี้เป็นสมัยที่สอง

เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์แบบนี้ ทางพรรคเพื่อไทย เขาก็มองว่า คนของเขาเหมาะสมกว่า พร้อมกับย้ำว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นของพรรคอันดับหนึ่ง โดยยกตัวอย่าง ปี 2562 ที่ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นของ คุณชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ และย้อนไปถึงปี 2526 ที่คุณอุทัย พิมพ์ใจชน จากพรรคก้าวหน้า มีแค่ 3 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภาฯ เหมือนกัน

อุทัย หนุน พรรคอันดับหนึ่ง ได้ตำแหน่ง ปธ.สภาฯ
แต่ตำนาน 3 เสียง ได้เป็นประธานสภาฯ อย่าง คุณอุทัย เห็นตรงข้าม ท่านเสนอว่า พรรคอันดับหนึ่งควรได้เป็นประธานสภาฯ และมองว่าประสบการณ์ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมา สส.ก้าวไกล ก็ทำหน้าที่ในสภาฯ ได้ดี

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมในปี 2526 พรรคก้าวหน้าของคุณอุทัย มีแค่ 3 เสียง แต่กลับได้เป็นประธานสภาฯ ท่านเล่าให้เราฟังว่า เป็นเพราะ พลตำรวจตรี ประมาณ อดิเรกสาร (ยศในขณะนั้น) หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ได้ สส. มาเป็นอันดับหนึ่ง เห็นว่ามีความเหมาะสม จึงทาบทามให้เป็นประธานสภาฯ แต่เมื่อได้เป็นแล้ว มีการเลือกนายกฯ กลับกลายเป็นว่า พลตำรวจตรี ประมาณ แพ้เสียงในสภาให้กับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ทำให้ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับ คุณอุทัย กลายเป็นประธานสภาฯ ที่มาจากฝ่ายค้าน แต่ก็ทำหน้าที่ได้ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับสำนึกและบทบาทบนบัลลังก์

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คุณอุทัย เคยเป็นประธานสภาฯ ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2519 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนั้นอายุแค่ 35 ปี เท่านั้น จากนั้นในปี 2526 ได้เป็นประธานสภาฯ ครั้งที่ 2 สังกัดพรรคก้าวหน้า ทั้ง ๆ ที่มี สส. ในมือเพียงแค่ 3 เสียง ครั้งที่สาม ปี 2544 เป็นประธานสภาฯ สังกัดพรรคไทยรักไทย

ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ในคราวนี้จะเป็นของใคร ยังต้องรอลุ้น แต่คนที่จะได้ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ก่อนใคร คือ พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ จากพรรคเพื่อไทย ที่มีความอาวุโสสูงสุด ด้วยอายุ 89 ปี จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ

ยังมีคนที่น่าจับตาว่าอาจกลายเป็นตาอยู่คว้าพุงปลาเก้าอี้ประธานสภาฯ ไปครอง ก็คือ คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่สุด และเคยนั่งทำหน้าที่นี้ จนได้รับเสียงชื่นชมจากทุกฝ่ายมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง