31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2565 คนไทยสูบบุหรี่เกือบ 10 ล้านคน แนะ 3 สมุนไพรไทยช่วยลดความอยากบุหรี่ ฝั่งเข็มตามศาสตร์จีนช่วยลด ละ เลิกได้
วันนี้ (30 พ.ค.66) นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก คำขวัญรณรงค์ในปีนี้คือ “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” จากข้อมูลกรมควบคุมโรคในปีที่ผ่านมาพบว่า มีประชาชนคนไทย ที่สูบบุหรี่ประมาณ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่เพียงแต่ผู้สูบเท่านั่น ควันบุหรี่มือสองยังทำร้ายผู้ใกล้ชิดที่สูดดมควันอีกด้วย อีกทั้งก้นบุหรี่ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
ดังนั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ ขอแนะนำ 3 สมุนไพรลดความอยากบุหรี่ ได้แก่
1.กานพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ดอกกานพลู 2 - 3 ดอกn อมไว้ในปากประมาณ 5 – 10 นาที สารสำคัญในดอกกานพลูจะทำให้เกิดอาการชาในปากเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้อาการอยากสูบบุหรี่ลดลง อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลูยังช่วยทางเดินหายใจหอมสดชื่นและช่วยลดกลิ่นปากได้อีกด้วย
2.หญ้าดอกขาว (หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่งแฮะดิน) มีสารสำคัญที่ทำให้ลิ้นชาหรือลิ้นฝาด ช่วยให้ความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง ปัจจุบันหญ้าดอกขาวถูกบรรจุเป็น ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รูปแบบชาชง วิธีใช้ นำหญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อ น้ำร้อน 120 - 200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5 - 10 นาที ดื่มหลังอาหาร วันละ 3 - 4 ครั้ง ข้อควรระวังในการใช้ คือ ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคไต เพราะหญ้าดอกขาว มีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง อาจส่งผลให้โรคประจำตัว กำเริบได้ และอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยคือ อาการปากแห้ง คอแห้ง
3.มะนาว เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง และมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป วิธีใช้ง่ายๆ เพียงหั่นมะนาว ทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ รับประทานทุกครั้งเมื่อมีความอยากบุหรี่
นอกจากนี้ ทางการแพทย์แผนจีนก็มีวิธีการฝังเข็มเพื่อลดความอยากบุหรี่ จากการศึกษาวิจัยพบว่า การฝังเข็มช่วยทำให้ผู้ติดบุหรี่มีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลงหรือถึงขั้นเลิกสูบได้ เนื่องจากการฝังเข็มมีผลทำให้เพิ่มการหลั่งสาร serotonin ในสมองส่วน hypothalamus ซึ่งเป็น สารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การย่อยอาหาร และควบคุมการนอนหลับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
“หากสงสัยการใช้สมุนไพร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 02 591 7007 และเฟซบุ๊ก,ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก”