ปลัด สธ.รับข้อเสนอเรียนแพทย์ 7 ปีแก้ภาระงานหมอ แต่ยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

ปลัด สธ.รับข้อเสนอเรียนแพทย์ 7 ปีแก้ภาระงานหมอ แต่ยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

View icon 125
วันที่ 9 มิ.ย. 2566 | 17.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปลัด สธ.แจงเรียนแพทย์ 7 ปี  เป็นข้อเสนอของชมรมแพทย์ฯ ที่ต้องรับฟังและหารือ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรหมอเร็ว ๆ นี้  พร้อมแจงปัญหาหมอลาออกมาจากหลายปัจจัย ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า  เรื่องส่วนตัว

วันนี้ ( 9 มิ.ย.66) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  (สธ.)  กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้ปรับหลักสูตร “หมออินเทิร์น” จาก 6+1 ปี เป็น 7 ปี เพื่อแก้ภาระงานมาก ว่า แนวคิดนี้เป็นข้อเสนอ ชมรมแพทย์และสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งมองว่าหน้าที่หลักของ สธ.คือการให้บริการไม่ใช่การฝึกฝน  จึงเสนอให้ทางมหาวิทยาลัย สอนทักษะให้ครบแล้วค่อยส่งมาทำงานที่ สธ. ซึ่งก็ต้องนำมาพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้หมายถึงจะเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเร็ว ๆ นี้

ส่วนการแก้ปัญหาภาระงานหมอมาก นพ.โอภาสกล่าวว่า  จากการหารือกับ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เห็นว่าประเทศไทยมีบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะยามปกติหรือยามฉุกเฉิน แต่สิ่งที่ตามมาคือ ภาระงานที่หนักมาก ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าถึงการดูแลสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและรักษาโรคมีมากขึ้น จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรในข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

“ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันคือ พยายามให้แต่ละจังหวัด ถือว่าหน่วยบริการของแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยเดียวกัน หรือ One Provine One Hospital แบ่งปันทรัพยากรรวมถึงบุคลากรร่วมกัน เช่น รพ.ไหนขาดหมอ ขาดงบ อีก รพ.ก็เข้าไปช่วย โดย 4 ชมรมฯ สะท้อนกลับมาหลายเรื่อง คือ บุคลากรที่มีจำกัดแต่ภาระงานเยอะ ปัญหาของเราคือติดระเบียบของราชการ เช่น ก.พ. เราจึงเทียบกับวิชาชีพอื่นอย่างครู ที่บริหารจัดการตำแหน่ง คัดเลือกบุคลากร ปรับค่าตอบแทนได้เอง แต่ สธ.ไม่มี ฉะนั้น เราจึงไม่สามารถบริหารจัดการ ปรับเปลี่ยนสายงานของบุคลากรได้อย่างคล่องตัว ชมรมฯ เสนอให้มีการบริหารแบบวิชาชีพครู ดูแลบุคลากรกันเองผ่านคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุข (กสธ.) ซึ่งจะมีการตกผลึกและผลักดันต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การลาออกของบุคลากร ไม่ใช่แค่หมอ แต่ยังมีพยาบาลด้วย สาเหตุมาจาก 5  ปัจจัย  คือ

1.ค่าตอบแทน  สธ. ได้เพิ่มค่าตอบแทนโอที 8% ค่าอยู่เวรบ่ายดึก 50% แต่ก็ยังไม่มากเมื่อเทียบกับ ค่าตอบแทนของเอกชนไม่ได้
2.สวัสดิการ สธ.กำลังเร่งสร้างบ้านพักให้บุคลากรอย่างเพียงพอ  ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างแล้ว 1 หมื่นยูนิต
3.ความก้าวหน้า  ตัวอย่างของแพทย์คือข้าราชการระดับ 8 แต่ถ้า สธ. ดำเนินการผ่าน กสธ. ได้เอง ก็ทำให้พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุขได้รับระดับ 8 ได้เช่นเดียวกัน
4.ภาระงาน ก็ต้องหารือกันว่าภาระงานที่เกินหน้าที่ เช่น การสอนแพทย์ ก็จะลดภาระงานได้
5.เรื่องส่วนตัว บางคนอาจชอบอยู่กรุงเทพฯ หรือต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อดูแลพ่อแม่ เมื่อครบ 3 ปีที่ใช้ทุน ก็จะกลับมาอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่ห้ามได้ยาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง