เศรษฐา แจงบินเช่าเหมาลำ 30 ล้านบาท ไปร่วมประชุม UN

View icon 459
วันที่ 19 ก.ย. 2566 | 06.06 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - วันนี้ 19 กันยายน ครบรอบ 17 ปี รัฐประหาร อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างเดินทางการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปิดฉากภารกิจสุดท้ายนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 23

แต่เวทีเดียวกันนี้ ในวันนี้ จะเป็นเวทีโลกแห่งแรกที่ นายเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับการเปิดตัวในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 แห่งประเทศไทย

นายกฯ เศรษฐา เดินทางออกจากไทย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 กันยายน ไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และจะเดินทางกลับมาในวันที่ 24 กันยายน ภารกิจหลักคือร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 หรือ ยูเอ็นจีเอ

ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การไปครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี จะเน้นย้ำบทบาทของไทยเรื่องสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ จะใช้โอกาสนี้เชื้อเชิญ กูเกิล ไมโครซอฟต์ และเทสลา มาลงทุนในประเทศไทย โดยมีกำหนดเข้าหารือกับระดับซีอีโอเบอร์ 1 หรือ เบอร์ 2 ของแต่ละบริษัท และมีกำหนดพบกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน หอการค้าสหรัฐอเมริกา รวมถึงภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งทางโฆษกสำนักนายกฯ ยืนยันว่า จะมีบริษัทเอกชนมาร่วมพบปะจำนวนมาก

สำหรับกำหนดการที่เป็นทางการ นายเศรษฐาจะถึงนิวยอร์กในช่วงเช้ามืดของ วันที่ 19 กันยายน จากนั้นจะเริ่มภารกิจทันที โดยร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG Summit ในหัวข้อ "Mobilizing finance and investments and the means of implementation for SDGs achievement" แปลได้ว่า การขับเคลื่อนด้านการเงิน การลงทุน และการบังคับใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากนั้นช่วงค่ำ จะร่วมงานเลี้ยงรับรอง

วันที่ 20 กันยายน นายเศรษฐาจะร่วมเวทีประชุม SDG Summit 2023 ภายใต้หัวข้อ "Fostering Partnership for Our Common Future" หรือ "บ่มเพาะความร่วมมือเพื่ออนาคตร่วมกัน"

วันที่ 21 กันยายน นายเศรษฐาจะขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีเสวนา ร่วมกับประธานาธิบดีติมอร์เลสเต ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย และเลขาธิการบริหารของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม การเดินทางในครั้งนี้ มีประเด็นดรามาตามมา เนื่องจาก นายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเป็นพาหนะในการเดินทางเหมือนผู้นำประเทศคนก่อน ๆ โดยเปลี่ยนเป็นการเช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทยแทนด้วยงบประมาณที่สูงถึง 30 ล้านบาท จึงมีการถามจากสื่อมวลชนถึงความเหมาะสมของราคาหลายครั้ง รวมถึงก่อนเดินทาง ซึ่งท่านนายกฯ ตอบสั้น ๆ ว่า "เคยแถลงไปหลายหนแล้ว ก็เอาตามคำแถลงแล้วกัน ว่ามันถูกกว่าที่เขาบอกมา"

ทั้งนี้ ประเด็นดรามา ค่าเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้โดนแค่ฝั่งรัฐบาลเท่านั้น นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ถูกตั้งคำถาม ในกรณีนำคณะเดินทางซึ่งส่วนใหญ่ เป็น สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 12 คน บินดูงานประเทศสิงคโปร์ เรื่องประสิทธิภาพงานสภา และการจัดการปัญหาหมอกควัน โดยใช้งบประมาณสูงถึง 1.3 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2566 ซึ่งก็มีคำถามว่า ราคามีความเหมาะสมหรือไม่ เช่น ค่าห้องพักต่อคนคืนละ 12,000 บาท หรือการนั่งชั้นธุรกิจในการเดินทาง

ต่อมา มีการชี้แจงเรื่องนี้ จาก หมออ๋อง ระบุว่า เป้าหมายการไปดูงานที่สิงคโปร์ เป็นการต่อยอดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูงที่ตนตั้งขึ้น ซึ่งในเอเชีย สภาไต้หวันและสิงคโปร์ได้รับการยอมรับในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากนโยบายจีนเดียวของกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไต้หวันได้ จึงเลือกเป็นสิงคโปร์

ส่วนเรื่องงบการเดินทาง ได้ถามไปยังเจ้าหน้าที่แล้ว ว่า บินด้วยสายการบินต้นทุนต่ำได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมา ปรากฏว่าไม่ได้ เพราะมีระเบียบกระทรวงการคลังกำหนดไว้ เช่นเดียวกับเรื่องโรงแรมที่พัก ได้บอกว่าอย่าให้ถึงงบสูงสุดคือ 12,000 บาท เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมา ได้โรงแรมที่เหมาะสม แต่เอกสารการเบิกเป็นการเบิกแบบเต็มที่ ตามสิทธิ์ที่บรรจุในระเบียบกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ หมออ๋องยืนยันว่า เป็นความตั้งใจอยู่แล้วที่จะทำสภาโปร่งใส ถ้าตั้งใจจะโปร่งใส ก็ต้องพร้อมโดนตรวจสอบ พร้อมแสดงใบเสร็จเรื่องค่าใช้จ่าย และเมื่อเดินทางกลับมา จะมีการสรุปอย่างชัดเจนว่าใช้กับเรื่องอะไร เท่าไรบ้าง

ขอบคุณภาพจาก : Facebook สมชัย ศรีสุทธิยากร