ขนส่งเจ้าดัง ยืนยันคลังไม่แตก ยอมรับลดค่าจ้างตามกลไกลตลาด

View icon 219
วันที่ 12 ต.ค. 2566 | 07.22 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เกิดดรามาในโลกออนไลน์ว่า บริษัทขนส่งเจ้าดังเจ้าหนึ่ง คลังสินค้าแตก พัสดุล้นคลังส่งของให้ลูกค้าไม่ทัน เพราะพนักงานไรเดอร์ลาออกกันหมด เพราะทำงานไม่คุ้มค่าตอบแทน ถูกหักค่าน้ำมัน ค่าคอมมิชชัน หากส่งของไม่ได้ตามยอดที่กำหนด

เป็นกระแสในโลกออนไลน์ หลังเพจสหภาพไรเดอร์เคลื่อนไหว ด้วยการโพสต์ข้อความระบุ "มีแหล่งข่าว อ้างว่าพนักงานบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ลาออกจำนวนมากเพราะถูกลดค่าคอมมิชชัน และต้องส่งสินค้าต่อวัน 200-500 ชิ้น และทำงาน 06.00 น. จนถึงเที่ยงคืน โดยไม่มีโอที "พนักงานบางท่านอ้างว่าถูกลดค่าคอมมิชชัน จาก 8,000 บาท เหลือไม่ถึง 500 บาท และบริษัทออกกฎระเบียบใหม่คือ พนักงานต้องทำงาน 92% ต้องส่งสินค้า วันละ 300-500 ชิ้น แต่ได้ค่าคอมมิชชันเพียงแค่ 40-80 ชิ้นเท่านั้น ที่เหลือคือทำงานฟรี ไม่มีค่าน้ำมัน ค่าคอมมิชชันก็น้อยลง รวมถึงไม่มีค่า OT ยุคที่ทุนขูดรีดแรงงานได้ตามอำเภอใจ รัฐไทยมั่วทำอะไรอยู่?"

เราสอบถามไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจการรับส่งสินค้ารวมถึงคนโดยสาร ดังนั้นหากจะพิจารณาตามหลักกฎหมายว่าบริษัทมีการเอาเปรียบพนักงานหรือไม่ ต้องดูนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่าเป็นแบบใด ระหว่างการเป็นพนักงานที่มีสัญญาจ้าง และพนักงานฟรีแลนซ์

ซึ่งหากเป็นพนักงานแบบแรกแล้วถูกหักค่าจ้าง ก็ต้องมาดูว่าถูกหักค่าอะไร หากไม่เป็นไปตามกฎหมาย นายจ้างอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 76 ที่ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด และลูกจ้างสามารถใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คุ้มครองได้ แต่หากเป็นพนักงานแบบฟรีแลนซ์ รับเงินค่าจ้างตามจำนวนงานที่ทำ แบบนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จะไม่คุ้มครอง แต่สามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้

สอบถามไปยังบริษัทที่ถูกกล่าวหา ทางบริษัทยอมรับว่ามีการปรับลดค่าตอบแทนพนักงานจริง ตามกลไลของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีการแข่งขันสูง แต่ที่ผ่านมาบริษัทให้ค่าตอบแทนสูงกว่าเจ้าอื่น ๆ ในตลาด ซึ่งการปรับลดอาจทำให้พนักงานบางส่วนไม่พอใจจนจึงตัดสินใจลาออก และโจมตีบริษัทผ่านโซเชียล

อย่างกรณีที่บอกว่าทำงาน 18 ชั่วโมงไม่ได้โอที กรณีที่ให้ส่งสินค้า 200-500 กล่องต่อวัน ถึงจะได้ค่าคอมมิชชัน และค่าน้ำมัน ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น แต่มีการกำหนดเป้าจริง ระหว่าง 60-100 กล่องต่อวัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปฏิบัติงาน ส่วนเรื่องพัสดุตกค้างจากการที่พนักงานลาออก ยอมรับเกิดขึ้นจริง บวกกับบริษัทมีพัสดุที่ต้องส่งวันละ 2 ล้านชิ้นต่อวัน จึงทำให้เกิดความล่าช้า บริษัทกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด