ชาวบ้านอยากให้ช่วย ฝายบ้านเขาชงโค พร้อมระบบส่งน้ำใช้งานไม่ได้

ชาวบ้านอยากให้ช่วย ฝายบ้านเขาชงโค พร้อมระบบส่งน้ำใช้งานไม่ได้

View icon 227
วันที่ 1 ก.พ. 2567 | 14.10 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ฝายบ้านเขาชงโค พร้อมระบบส่งน้ำ เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 53 ปัจจุบันใช้งานไม่ได้ ชาวบ้านวอนเร่งแก้ไข ใช้งานได้คุ้มค่างบประมาณ

ฝายบ้านเขาชงโค พร้อมระบบส่งน้ำปัจจุบันไม่ใช้งานไม่ได้ วันนี้ (1 ก.พ.67) ชาวบ้านนำสื่อมวลชนสำรวจจุดพักและส่งน้ำ ที่ตั้งอยู่บนภูเขาชงโค บ้านเขาชงโค หมู่ 12 ต.คลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีอุปกรณ์ในการพักและส่งน้ำครบ แต่อยู่ในสภาพไม่ได้ใช้งาน ทั้งที่เป็นโครงการที่สร้างใหม่ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งชาวบ้านอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ฝายสามารถใช้งานได้ตามงบประมาณที่สร้างไปจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่

นายฤทธิรอน ช่วยเกิด ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 พื้นที่ตั้งโครงการเล่าว่า โครงการเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2553 แต่ตั้งแต่สร้างมายังไม่ได้ใช้ย จากปัญหาหลายด้าน กระทั่งปี 2565 ก็มีการเข้ามาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอีกครั้ง โดยเพิ่มคันกว้าง 50 เซนติเมตร และเพิ่มประตูระบายทราย แต่ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามศักยภาพและมูลค่าของฝาย ในช่วงฝนตก น้ำเต็มฝาย แต่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการใช้น้ำในช่วงฝนตก

แต่พอหน้าแล้งฝายกลับกักเก็บน้ำไม่ได้เพราะมีรอยรั่ว ฝายตื้นจากทรายที่ถูกพัดมาในช่วงฝนตก พยายามขุดลอกทุกปี แต่พอฝนทิ้งช่วงน้ำในฝายก็แห้ง ทุกวันนี้ยังใช้การไม่ได้ จึงอยากให้หน่วยงานรับผิดชอบเข้ามาดำเนินการแก้ไขช่วยชาวบ้านให้มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง
นายไพฑูรย์ รัตนนิพนธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองพา กล่าวว่า ในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียน ชาวบ้านจึงต้องการฝายแห่งนี้ เพื่อมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง โดยปี 66 ที่ผ่านมาขาดแคลนน้ำใช้ และน้ำในฝายก็แห้งหมด ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรได้ ซึ่งก็พยายามประสานและหาแนวทางช่วยให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากฝายในช่วงหน้าแล้ง

นายสมสวัสดิ์ ฉายสินสอน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า โครงการฝายบ้านเขาชงโคพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่ราษฎรในพื้นที่คลองพาได้ส่งหนังสือขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานในพระราชดำริ (กปร.) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเป็นโครงการที่มีงบประมาณที่สูง จึงให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินงานแทน

ฝายบ้านเขาชงโคเป็นฝายน้ำล้นแบบสันกว้าง ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 90 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวฝายกับระบบส่งน้ำ มีความ สูง 3.5 เมตร กว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 65 เมตร ให้ระบายน้ำได้และไม่กีดขวางทางน้ำ ช่วงน้ำหลากก็ให้สามารถสัญจรได้ พร้อมขุดลอกเหนือฝายกว้าง 50 เมตร ยาว 1000 เมตร ให้สามารถจุน้ำได้ 1 แสนลูกบาศก์เมตร และสร้างโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและระบบส่งน้ำเป็นระยะทาง 21 กิโลเมตร เป้าหมายเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ หมู่ 4, 5, 6, 12 ต.คลองพา 400 หลังคาเรือน ราษฎร 1,300 คน พื้นที่ทำการเกษตร 1,200 ไร่ โรงเรียน 2 แห่ง สำนักสงฆ์ 1 แห่ง

นายสมสวัสดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่ก่อสร้างปี 2553 จนเสร็จสิ้น ปี 2558 ก็พบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและความต้องการใช้น้ำที่สูงขึ้นจากการทำสวนทุเรียนเพิ่มขึ้น จึงได้ดำเนินแก้ไขการปรังปรุงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ได้ดำเนินการเพิ่มคันสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตร ทำการขุดลอกด้านเหนือฝาย เพิ่มความจุน้ำ และทำประตูระบายทราย ซึ่งเนื่องจากสภาพพื้นที่มีฝนบ่อยและมีน้ำหลาก ทำให้ตะกอนดินลงมาทับถมด้านเหนือฝาย และหัวดูดน้ำ จึงไม่สามารถสูบน้ำได้ ซึ่งได้ดำเนินการขุดลอกเหนือฝายและบริเวณหัวสูบน้ำแล้ว แต่พบระบบไฟฟ้าโรงสูบน้ำที่ชำรุดอีก

ในปี 2567 ได้ตั้งงบประมาณ 8 แสนบาท ในการขุดลอกคลองเหนือฝายเพิ่มประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มความจุของน้ำ รวมถึงซ่อมบำรุงท่อระบบส่งน้ำ เพื่อให้ฝายสามารถกักเก็บน้ำได้ พร้อมสามารถจ่ายน้ำเต็มความสามารถของฝายบ้านชงโคแห่งนี้ ให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง