ชะตากรรมของชาวบ้าน ถอยจนตกแม่น้ำโขง ยังไม่ได้สิทธิที่ทำกิน

ชะตากรรมของชาวบ้าน ถอยจนตกแม่น้ำโขง ยังไม่ได้สิทธิที่ทำกิน

View icon 171
วันที่ 29 ก.พ. 2567 | 17.11 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปัญหาปมข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างประชาชนกับรัฐเกิดจากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ มีสาเหตุจากความไม่ชัดเจนของประกาศแนวเขตป่า และการประกาศแต่ละครั้งก็ใช้มาตรส่วนแผนที่ที่แตกต่างกันไป กลายเป็นความยืดเยื้อไม่จบไม่สิ้น เช่นเดียวกับ “บ้านห้วยเล็บมือ” ในพื้นที่ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ

โดยกลุ่มชาวบ้าน “บ้านห้วยเล็บมือ” ชุมชนริมน้ำโขงแสนสงบ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 5 ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและร้องเรียนต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับปัญหาการถ่ายทอดขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงภูวัว ซึ่งเกิดผลกระทบต่อชาวบ้านหลายสิบหลังคาเรือน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายอย่างที่ยืนยันได้ว่า หมู่บ้านแห่งนี้ ตั้งรกรากในราว ปี พ.ศ. 2444 โดยชนเผ่าไทเทิง ความเก่าแก่ของหมู่บ้านปรากฏหลักฐานให้เห็นเด่นชัด เช่น วัดพระแม่ถวายพระกุมารในพระวิหาร โบสถ์คาทอลิก อันเป็นศูนย์กลางชุมชน ซึ่งระบุว่า มีอายุกว่า 100 ปี

ขณะที่โรงเรียนบ้านห้วยเล็บมือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. พ.ศ.2484 รวมทั้งสุสานบ้านห้วยเล็บมือ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งชาวบ้านบอกว่ามีการใช้มาประมาณ 135 ปี โดยมีต้นไม้ขนาดใหญ่อย่าง ต้นตะแบก ต้นหว้า และต้นตะเคียนทอง ยืนตระหง่านบ่งบอกอายุที่ผ่านร้อนหนาวเป็นสัญลักษณ์

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ซึ่งรับผิดชอบกรมป่าในขณะนั้น ได้มีการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 205 (พ.ศ.2510) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2507 กำหนดให้ป่าดงภูวัว ในท้องที่ ต.หนองเดิ่น อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ในขณะนั้น) ภายใต้แนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เพื่อกำหนดแนวเขตป่ากับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งนับเป็นปฐมบทของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้ กระทั่งใน พ.ศ.2528 ความขัดแย้งเริ่มเพิ่มขึ้น เมื่อกรมป่าไม้ได้มีการถ่ายทอดขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงภูวัว ลงในระวางรูปถ่ายทางอากาศในแผนที่อัตราส่วน 1:5000 เพราะปริมาณพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างนั้นก็มีการออกเอกสารสิทธิทำกินให้ประชาชนที่ไม่อยู่ในแนวเขต ทั้ง สค. 1 และ นส.3

อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2553 ภาครัฐได้มีนโยบายปรับเส้นแนวเขตป่าสงวนอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ใช้อัตราส่วนแผนที่ 1:4000 เพื่อความละเอียดมากขึ้น นั่นหมายความถึงส่งผลกระทบให้เขตป่าเข้าไปทับพื้นที่ประชาชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งทับพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิไปแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2558 กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 308/2558 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 อุดรธานี (สจป.6) ซึ่งรับผิดชอบเขตป่าบึงกาฬ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และคณะทำงานถ่ายทอดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลแผนที่เร่งด่วนฯ ซึ่งระบุว่าเป็นการสำรวจแผนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ แต่การดำเนินงานก็ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ผลกระทบจากพื้นที่ทับซ้อนรุนแรงยิ่งขึ้น

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินไปต่อเนื่อง กระทั่งกรมป่าไม้ ได้สั่งการให้คณะกรรมการทำการตรวจพิสูจน์แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ได้ถ่ายทอดไว้ทั้งสองครั้งว่า แนวใดถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมระบุเหตุผลและหลักฐานประกอบให้ชัดเจน กระทั่งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 5 ต.ค. พ.ศ.2561 ได้มีมติประชุมร่วมกันว่า ทั้งสองเส้นมีความคลาดเคลื่อนเมื่อเปรียบเทียบกับสมุดจดรายการรังวัดและแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ซึ่งคณะกรรมการมีมติสมควรให้ใช้แนวเขตฯตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง 2510 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกำหนดจุดในพื้นที่กึ่งกลางเส้นแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงอย่างละเอียดขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่พอใจ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการได้รายงานผลการประชุมดังกล่าวไปถึงกรมป่าไม้ เพื่อให้กรมป่าไม้และกรมที่ดิน ได้ดำเนินการตามข้อตกลงกำหนดแนวเขตระหว่างสองกรม เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดขีดเส้นป่าสงวนแห่งชาติป่าดงวัว แต่ปรากฏว่า มีการดำเนินการล่าช้าและเงียบหายไประยะหนึ่ง กระทั่งกรมป่าไม้ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 1603.5/1863 ลงวันที่ 3 ก.พ. พ.ศ.2565 เรื่องข้อมูลแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีการสรุปว่าให้ใช้เส้นที่ขีดเมื่อ พ.ศ.2553 ไปพลางก่อน ทั้งที่ไม่ใช่แนวเขตตามกฎหมาย และยังลบล้างผลประชุมของคณะกรรมการที่สรุปเมื่อ 5 ต.ค. พ.ศ.2561  ที่ใช้แนวเขตตามกฎหมายคือแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ทำให้มีผลกระทบต่อชาวบ้าน คือ นอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการขีดเส้นทับสิทธิที่ดินทั้งสองครั้งแล้ว ยังตอกย้ำในการลิดลอนสิทธิ์การครอบครองสิทธิที่ดิน นส.3 ก. ที่มีอยู่เดิม และไม่ได้สิทธิ์ในการเดินสำรวจออกโฉนดที่กำลังจะมีการสำรวจประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2567 นี้อีกด้วย

โดยทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านห้วยเล็บมือหลายครัวเรือน เกิดความอัดอั้นตันใจ เพราะพวกเขาพยายามที่อยากจะมีผืนดินที่เคยทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษนับร้อยปี ได้ออกเอกสารสิทธิ์เป็นของครอบครัวตัวเองเสียที และดูเหมือนว่าความหวังครั้งนี้จะเลื่อนลอยออกไปอย่างสิ้นหวัง ซึ่งที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ชาวบ้านห้วยเล็บมือ เคยยอมถอยจากตีนเขาภูดงวัว มาตั้งบ้านเรือนริมแม่น้ำโขง

ด้าน นางใคร โสกมาน อายุ 76 ปี ชาวบ้านห้วยเล็บมือ และเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโสกมาน เล่าว่า ยายจำไม่ได้แล้วว่า บรรพบุรุษของยายมาปักหลักรากฐานของตระกูลเมื่อ พ.ศ.ใด เพราะแม่ของยายก็ตายตอนอายุ 103 ปี จำได้แค่ว่า เมื่อสมัยก่อน ชาวบ้านมีหน้าที่ทำกินก็ทำกินกันไป ทำไร่ทำนาอยู่กับป่าหาเลี้ยงตัวกันไปตามวิถีชีวิต

นอกจากนี้ นางใคร ได้แสดงเอกสารที่เป็น สค.1 ให้กับสื่อมวลชนได้เห็นเป็นหลักฐานว่า ครอบครัวของตนตั้งรกรากมายาวนาน และจนมีเอกสารดังกล่าวนี้ขึ้นมา แม้ว่าปัจจุบันเอกสาร สค.1 นี้ จะถูกปลวกกัดกินจนแทบไม่เหลือเค้าโครงของเอกสารสำคัญก็ตาม และทางครอบครัวก็มีเอกสารที่ดิน นส.3 ก ที่เป็นความหวังว่า ครั้งหนึ่งก่อนที่จะสิ้นใจจากโลกนี้ไป จะได้เอกสารโฉนดที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของที่ดินที่เคยใช้ทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเสียที

ความเดือดร้อนครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ชาวบ้านตาดำๆตัวเล็กๆเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้กระทั่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยเล็บมือ คือ นายบุญยัง เสาะก่าน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ครอบครัวของเขายืนหยัดต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เล่าว่า ที่นาของตระกูลตนเองใช้เลี้ยงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้มีสิทธิ์ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการเสียที

แม้ที่ผ่านมา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยเล็บมือ จะพยายามทำทุกวิถีทางและมีเอกสารยืนยัน นส. 3 และที่น่าตกใจกว่านั้น คือ ครั้งหนึ่งทางครอบครัวของนายบุญยัง เคยนำเอกสาร นส. 3 ไปยื่นกู้เงินต่อธนาคารเพื่อการเกษตร และทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการอนุมัติเงินกู้ให้ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า เอกสาร นส. 3 ที่ครอบครัวของนายบุญยังครอบครองอยู่นั้น เป็นหลักฐานที่เพียงพอต่อการพิจารณาเงินกู้ได้ แต่พอเมื่อปีที่แล้ว การย้อนไปใช้แนวเขตพ.ศ. 2553 จึงกลับกลายเป็นว่าที่ดินนั้นอยู่ในเขตป่าสงวน

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแค่กระทบชาวบ้านห้วยเล็บมือในเรื่องของการทำกินเท่านั้น นายพรเทพ ท้าวดี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองเดิ่น ม.5 ยังบอกอีกว่า ความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขตที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ของเราขาดโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ของตัวเอง รวมถึงไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรต่างๆได้ เพราะพวกเราไม่มีเอกสารสิทธิ หรือแม้แต่เวลาที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ทั้งน้ำท่วม สงเคราะห์ยาง หรืออะไรก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่การขอทะเบียนบ้าน ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า แม้ที่ผ่านมาจะมีการดำเนินการตามโครงการเดินออกโฉนด ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเดินทางไปดำเนินการหลายจังหวัด ทั้งนครพนม บึงกาฬ หนองคาย แต่หมู่บ้านแห่งนี้ไม่ได้รับสิทธิ์ โดยชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องขอที่ดินเพิ่มเติม เพียงแค่ต้องการเรียกร้องขอแนวเขตให้มันชัดเจนเท่านั้น ซึ่งที่นี่เดือดร้อนมานานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขเสียที อาจจะเพราะเราเป็นชุมชนเล็กๆ หรือนักการเมืองไม่สะท้อนปัญหาอย่างจริงจัง ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องสิทธิ์ที่ทำกินเพิ่ม แค่ขอความชัดเจนของแนวเขตเท่านั้น

นายพรเทพ ยังได้ฝากขอความเห็นใจจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกว่า อยากให้นายเศรษฐาที่เป็นบุคคลที่ประชาชนหวังพึ่งพาที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ขอให้ท่านช่วยหันมามองความเดือดร้อนของชุมชนแห่งนี้มีแนวเขตที่ชัดเจนและมีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าวได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านหลายครัวเรือนที่พยายามบอกเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งความหวังสุดท้ายที่สำคัญกับชาวบ้านในชุมชนเล็กๆแห่งนี้ และอยากจะได้ส่งเสียงให้ดังไปถึงก็คือ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง