ลุยสอบงบโยธาแก้น้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์งบ 148 ล้านสร้าง 7 ชั่วโคตรไม่เสร็จ ทำชาวบ้านเดือดร้อน

ลุยสอบงบโยธาแก้น้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์งบ 148 ล้านสร้าง 7 ชั่วโคตรไม่เสร็จ ทำชาวบ้านเดือดร้อน

View icon 147
วันที่ 19 มี.ค. 2567 | 15.57 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ป.ป.ท.เขต 4 ลุยสอบงบโยธาแก้น้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์งบ 148 ล้านสร้าง 7 ชั่วโคตรไม่เสร็จ แฉโผล่อีกก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลางงบ 39 ล้านรับเหมาขาใหญ่เจ้าเดิม ชาวบ้านเซ็งออกข่าวดังทั่วประเทศแต่ยังเฉยไม่สร้างสักที

วันนี้ (19 มี.ค. 67) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ผ่านมา นายจิรวัฒน์ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 4 ( ปปท.เขต 4) พร้อมคณะ เข้าติดตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 148,200,000 บาท  และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ความยาว 583 เมตร งบประมาณ 39,540,000 บาท เพื่อบูรณาการงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต การเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ปปท.เขต 4 ตาม โครงการเครือข่าย ป.ป.ท. เฝ้าระวังการทุจริต "PACC Connect"

อย่างไรก็ตาม เป็นการลงพื้นที่เฝ้าระวังป้องกัน ตรวจติดตามและแก้ไขปัญหา รวมทั้งสกัดกั้นในกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริต หรือปัญหาอื่นใดในเขตพื้นที่ โดยการเปิดบ้าน ป.ป.ท. ของประชาชน โดยมี นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล รองประธานคณะทำงานศูนย์ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคมในการต่อต้านทุจริต จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วย นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ว่าที่ร้อยตรี สมบูรณ์ หัสดม ผอ.ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ร่วมตรวจสอบและสังเกตการณ์ ทั้งนี้ มีตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาผู้รับเหมา และตัวแทนผู้รับเหมา เข้ามารายงานข้อมูลด้วย

โดยก่อนลงพื้นที่ นายจิรวัฒน์ พร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมรับฟังอุปสรรคปัญหา และความก้าวหน้าของโครงการฯ จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชน จากนั้นลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาทั้ง 2 โครงการ 4 จุด ประกอบด้วยบริเวณแยกถนนพร้อมพรรณ, บริเวณถนนเชื่อมไปศูนย์ราชการ จ.กาฬสินธุ์, ถนนหลังบิ๊กซี และบริเวณแก่งดอนกลาง โดยมีตัวแทนผู้ประกอบการ และตัวชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนให้ข้อมูล

จากการลงพื้นที่ พบสภาพปัจจุบันมีการขุดท่อ เปิดหน้าดินเป็นหลุมขนาดใหญ่แล้วปล่อยทิ้งไว้ และยังคงมีการนำท่อมาวางไว้ตามริมถนน กีดขวางจราจร นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเครื่องจักรมาจอดกีดขวาง และเสี่ยงอันตรายกับประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมา นานกว่า 5 ปี แล้วปล่อยทิ้งร้าง โดยเฉพาะบริเวณแยกกถนนพร้อมพรรณ และเส้นทางเชื่อมศูนย์ราชการ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความเสียหายกระทบกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก จนชาวบ้านขึ้นป้ายประจานโครงการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตรมาแล้ว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากคณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ และภาคประชาชน ว่าโครงการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 148,200,000 บาท  และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 39,540,000 บาท เกิดปัญหาความล่าช้า ประชาชน ผู้ประกอบการ ได้รับความเดือดร้อนมานานกว่า 5 ปี จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ จากการรายงานเบื้องต้นพบว่าปัญหาเกิดจากผู้รับเหมาทั้ง 2 โครงการรายเดียวกันขาดสภาพคล่อง การก่อสร้างล่าช้ามาก จึงมีการขยายเวลาดำเนินงานก่อสร้าง 2 ครั้ง การก่อสร้างก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงได้ร่วมกับ ป.ป.ช.ประจำจ.กาฬสินธุ์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ เพื่อนำข้อมูลสรุปและรายงานส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน นายดำรงศักดิ์ สง่าวงษ์ ข้าราชการบำนาญ ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ทั้งสภาพความเป็นอยู่ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป สภาพจิตใจเสีย เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อย ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย และการสัญจรลำบากแล้ว นอกจากนี้ในส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง ร้านค้า ร้านขายต่างก็เจ๊งระนาวไปตามๆกัน เพราะปัญหาการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ครั้งแรกอยากให้ทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเปลี่ยนผู้รับเหมา หรือมีมาตรการเร่งให้ผู้รับเหมาเร่งมือทำงาน แต่พอทราบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่ปัญหามาจากส่วนกลาง ชาวบ้านก็ได้ต่อรอความหวังว่าเมื่อไหร่ปัญหาจะได้รับการแก้ไข หรือทำอย่างไรก็ได้ ขอให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กรมโยธาธิการได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 148,200,000 บาท ถือเป็นโครงการใหญ่ ผู้รับจ้างที่ได้งานนี้ต้องเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ และเป็นคู่สัญญากับกรมโยธาธิการ เริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 62 กำหนดในสัญญาแล้วเสร็จ 26 มิ.ย. 64 แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงทำให้งานก่อสร้างล่าช้า

ต่อมาโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยผ่อนผันให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 จึงทำให้แผนงานได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปถึงเดือน ก.พ.68 ขณะเดียวกัน จากรายงานของผู้รับเหมา มีความคืบหน้าเพียง 63% ขณะที่เบิกจ่ายไปแล้ว 31 งวด จำนวน 80 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง