ผึ้งหลวงหิมาลัย ค้นพบครั้งแรกในไทยที่ดอยผ้าห่มปก

View icon 107
วันที่ 19 เม.ย. 2567 | 14.12 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมอุทยานฯ ค้นพบ ผึ้งหลวงหิมาลัย ครั้งแรกในประเทศไทย ช่วยขยายพันธุ์พืชในพื้นที่สูง เล็งศึกษาเพิ่ม เปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ นำน้ำหวานทำประโยชน์ให้ชาวบ้าน

ผึ้งหลวงหิมาลัย วันนี้(19 เม.ย.2567) นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงการค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัยที่เคยพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดีย

นายทรงเกียรติ กล่าวว่า ผึ้งหลวงหิมาลัย หรือ Apis laboriosaSmith, 1871 ที่พบในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณหน้าผาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการพบเจอตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดของตัวผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งหลวงอีกชนิดนอกเหนือจากผึ้งหลวงทั่วไป ที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการสร้างรังที่ขนาดใหญ่เป็นคอนเดี่ยว ลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญของผึ้งหลวงหิมาลัย ได้แก่ ปล้องท้องที่มักมีสีดำสนิท และ ขนรอบบริเวณปล้องอกที่มีสีเหลืองทอง ผึ้งหลวงหิมาลัยสามารถพบในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ <1,000-4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเลและในพื้นที่มีอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 25°C และยังเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการผู้เลี้ยงผึ้งและศึกษาผึ้งทั่วโลกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศอินเดียและเนปาล มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่มจากผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทยต่อไป

ผึ้งหลวงหิมาลัย

นายทรงเกียรติ กล่าวอีกว่า การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่างๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apisชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis dorsata) ผึ้งมิ้ม (Apis florea) ผึ้งม้าน (Apis andreniformis) และผึ้งโพรง (Apis cerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น

ผศ.ดร.ณัฐพจน์ ระบุว่า เมื่อได้รับตัวอย่างผึ้งมา จึงนำมาศึกษาจำแนกชนิดของผึ้ง ซึ่งผึ้งส่วนใหญ่ที่ผลิตน้ำผึ้ง จะเป็นผึ้งพันธุ์ซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนผึ้งหลวงหิมาลัย พบครั้งแรกที่ยูนนาน ประเทศจีน ไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไทยมาก่อน มีพฤติกรรมทำรังอยู่บนชะง่อนผาสูง เจอผึ้งกลุ่มนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2565 ผึ้งชนิดนี้มีน้ำผึ้งเมา ซึ่งในต่างประเทศจะมีทัวร์ เดินทางไปดูผึ้งหลวงหิมาลัย และช่วยเกษตรกรซื้อขายและรักษาน้ำผึ้ง ฉะนั้น หากโลกยังมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องสภาพอากาศ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่เจอผึ้งหลวงหิมาลัยอีก ซึ่งทีมวิจัยยังเดินหน้าศึกษาต่อเพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเจอผึ้งหลวงชนิดนี้ในพื้นที่อื่นอีก ส่วนที่ดอยผ้าห่มปกเจอประมาณ 3 จุด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ กว่า 3 ชั่วโมง

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผึ้งหลวงหิมาลัย มีความสำคัญขยายพันธุ์พืชในพื้นที่เขาสูง เช่นดอกกุหลาบพันปี ดอกบัวทอง น้ำผึ้งของผึ้งหลวงหิมาลัยเองก็มีประโยชน์เช่นกัน ซึ่งในอนาคตหลังจากศึกษาครบถ้วนแล้ว อาจนำไปสู่การท่องเที่ยว พัฒนาต่อยอดให้เป็นจุดท่องเที่ยวเพิ่มเติม ส่วนน้ำผึ้งก็จะต้องศึกษาต่อเพื่อนำมาพัฒนาร่วมกับชุมชน ส่งเสริมชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่อย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ อนุญาตให้เก็บหาหรือนำน้ำผึ้งออกมาขายภายใต้กฎหมายของกรมอุทยานฯ

ผึ้งหลวงหิมาลัย

ผึ้งหลวงหิมาลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง