กรมคุก แจง บุ้ง กินข้าว แต่ปฏิเสธเกลือแร่ ไม่มีภาวะวิกฤต พูดคุยกับตะวันก่อนวูบ

กรมคุก แจง บุ้ง กินข้าว แต่ปฏิเสธเกลือแร่ ไม่มีภาวะวิกฤต พูดคุยกับตะวันก่อนวูบ

View icon 60
วันที่ 15 พ.ค. 2567 | 13.53 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมคุก แจง บุ้ง ทะลุวัง กินข้าว แต่ปฏิเสธเกลือแร่ ไม่มีภาวะวิกฤต พูดคุยกับตะวันก่อนวูบ ยันรพ.ราชทัณฑ์รักษาตามหลักการแพทย์ ส่วนเหตุเสียชีวิตรอผลชันสูตร ด้าน ตะวัน-แฟรงค์ กินข้าวแล้ว

วันนี้ (15 พ.ค.67) ที่กรมราชทัณฑ์ นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรม นางอาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และนายแพทย์พงศ์ภัค อารียาภินันท์ ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ร่วมแถลงข่าว เพื่อชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือบุ้ง ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112

โดยนายแพทย์สมภพ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับตัว น.ส.เนติพรมาควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อวันที่ 26 ม.ค.67 ขณะนั้นน.ส.เนติพร ได้อดอาหารอยู่แล้ว ทัณฑ์สถานฯ ได้เฝ้าระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่ออ่อนเพลียจากภาวะการอดก็ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ ต่อมาวันที่ 29 ก.พ.-8 มี.ค.67 ได้เข้ารักษาที่รพ.ราชทัณฑ์เป็นเวลา  8 วันจากอาการอ่อนเพลีย และวันที่ 8 มี.ค.-4 เม.ย.67 ได้ย้ายไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นเวลา 27 วัน ต่อมาวันที่ 4 เม.ย.67 แพทย์ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ มีหนังสือส่งตัวบุ้งกลับมารักษาตัว เนื่องจากเห็นว่ารักษากลับมารักษาต่อที่ รพ.ราชทัณฑ์ได้ ภายหลังกลับมาก็ได้รับรายงานว่ากินอาหารได้บ้างตามลำดับ รพ.ราชทัณฑ์จัดให้พักในห้องผู้ป่วยรวม โดยมี น.ส.ทานตะวัน หรือตะวัน อยู่ด้วย และมีแพทย์เฝ้าระวังและตรวจตลอดเวลา พบรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการ สภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า กระทั่งวันที่ 14 พ.ค. เวลาประมาณ 6 โมง ขณะที่ น.ส.เนติพร และน.ส.ทานตะวัน พูดคุยกันตามปกติในห้องผู้ป่วย น.ส.เนติพร เกิดอาการวูบหมดสติ เจ้าหน้าที่และแพทย์ให้การช่วยเหลือกระตุ้นหัวใจทันที ก่อนประสานส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จนมีข่าวเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขอเรียนมากรมราชทัณฑ์ ได้ให้ความเคารพ และให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักนิติธรรม มีการเฝ้าระวังดูแลรักษาใกล้ชิดโดยแพทย์และพยาบาลของ รพ.ราชทัณฑ์ และเพื่อความโปร่งใส่กระทรวงยุติธรรมด้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการเสียชีวิต  หากผลการตรวจสอบเหตุเสียชีวิตออกมาแล้วจะชี้แจงต่อไป

นายแพทย์สมภพ กล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์มีมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ที่ประกาศอดอาหาร โดยเริ่มจากการส่งนักจิตวิทยา หรือแพทย์เข้าไปตรวจร่างกาย และพูดคุยให้เปลี่ยนแนวคิดการอดอาหาร หากยังยืนยันเจตนารมณ์เดิม กรมราชทัณฑ์จะประเมินอาการหลังอดอาหารทุกวัน ถ้ายังดำเนินการอดอาหารต่อเนื่องจนเกิดอันตราย หรือเกินศักยภาพที่รพ.รักษาได้ ก็จะส่งต่อไปที่รพ.แม่ขาย กรณีของ น.ส.เนติพรก็เช่นกัน ช่วงแรกที่อดอาหารอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง จนเริ่มมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น ก็ส่งตัวไปรักษาที่รพ.ราชทัณฑ์ เมื่อประเมินว่าสามารถกลับไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลางได้ก็ส่งตัวกลับ โดยควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางประมาณ 10 วัน น.ส.เนติพรก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์อีก

หลังอยู่ รพ.ราชทัณฑ์มาระยะหนึ่ง น.ส.เนติพร ยังอดอาการต่อเนื่อง จากการประเมินของ รพ.ราชทัณฑ์เห็นว่าเกินศักยภาพ จึงส่งไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ จะเห็นว่าช่วงเดือน มี.ค.ทั้งเดือน น.ส.เนติพร รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ จนวันที่ 4 เม.ย. รพ.ธรรมศาสตร์ฯ มีหนังสือแจ้งมาว่าสามารถกลับไปรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.จนถึงเมื่อวานนี้ น.ส.เนติพร จึงอยู่ในการดูแลของ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่ง น.ส.เนติพรร่างกายปกติดีทุกอย่าง แทบไม่มีอาการอะไรเลย เหมือนคนพักฟื้นจากภาวะอดอาหารมานาน ซึ่งก็เริ่มกินได้บ้างแล้ว ก็ต้องรออีกระยะที่ร่างกายจะกลับมาปกติ ยืนยันสิ่งที่ รพ.ราชทัณฑ์ปฏิบัติถูกต้องตามการรักษาและหลักการแพทย์ หลังจากนี้ก็ต้องรอผลชันสูตรนิติเวช

สำหรับ น.ส.ทานตะวัน และ นายณัฐนนท์ หรือแฟรงค์ ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ ทั้ง 2 คน อาการแข็งแรงปกติดี ช่วงเช้าตนไปพบทั้ง 2 คน ตอนนี้ทั้ง 2 คนกลับมากินข้าวแล้ว โดย น.ส.ทานตะวันยังกินได้ไม่มาก และค่อนข้างเครียด เพราะนอนกับน.ส.เนติพรตลอด  จึงส่งนักจิตแพทย์เข้าไปพูดคุยดูแลด้านจิตใจ และประสาน รพ.ธรรมศาสตร์ เพราะอาจมีภาวะซึมเศร้ามาเกี่ยวข้อง แต่เรื่องอาหารการกินดีขึ้นตามลำดับ

ด้าน นายแพทย์พงศ์ภัค กล่าวว่า รายละเอียดการรักษาแต่ละวันมีการบันทึกไว้ โดย น.ส.เนติพร เริ่มกินอาหารอ่อนประเภทข้าวต้ม ไข่เจียว ส่วนปริมาณที่กินขึ้นอยู่ว่าช่วงนั้นมีอาการแน่นท้องหรือไม่ ส่วนที่ต้องส่งไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เพราะช่วงเดือนมี.ค. น.ส.เนติพร ปฏิเสธกินอาหาร น้ำ ร่างกายอ่อนเพลียลงมาก ปฏิเสธรับเกลือแร่บางชนิด จึงเกินศักยภาพการรักษา และได้ปรึกษากับ น.ส.เนติพรว่าถ้าไป รพ.ธรรมศาสตร์จะมีแพทย์และอุปกรณ์ครบ ซึ่ง น.ส.เนติพรก็ขอไปรักษาที่นั่น โดยบอกว่าอาจจะทำให้กินได้มากขึ้น

และหลังจากที่ น.ส.เนติพร หลังกลับจาก รพ.ธรรมศาสตร์ ยังมีอาการอ่อนเพลีย พบโลหิตจาง และเกลือแร่ต่ำ รพ.จัดเกลือแร่ให้ พร้อมอธิบายถึงความสำคัญ ซึ่งอาจมีผลถึงแก่ชีวิตได้ โดย น.ส.เนติพร รับทราบ แต่ยังปฏิเสธรับเกลือแร่ แต่กินอาหารได้มากขึ้นตามลำดับ ส่วนภาวะอิเล็กโทรไลต์ รพ.ได้เฝ้าระวัง เจาะเลือดตลอด และให้คำแนะนำถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายได้ โดยตรวจร่างกายล่าสุดวันที่ 13 พ.ค. น.ส.เนติพร ก็มีอาการอ่อนเพลีย เวลาลุกเดินอาจจะตึงๆ อ่อนแรงเล็กน้อย เหมือนทุกวันที่ผ่านมา ไม่มีวิกฤติตอนอยู่โรงพยาบาล และไม่เคยมีอาการหมดสติ กระทั่งมีเหตุวูบเมื่อเช้าวานนี้ ก็ได้มีการปั๊มหัวใจ ฉีดยากระตุ้น แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ต้องใช้ AED

เมื่อถามว่า การประเมินสภาพร่างกายที่อดอาหารมานานกว่า 100 วัน การรักษาทำอย่างไร นายแพทย์พงศ์ภัค กล่าวว่า มีนักโภชนาการเข้าไปช่วยดู ภาวะการประเมินคือขาดอาหารเรื้อรัง รวมถึงเกลือแร่พร่องจากการขาดอาหาร ก็แนะนำให้เกลือแร่ทดแทนและทานอาหาร ซึ่ง น.ส.เนติพร ขอกินอาหารอย่างเดียว ปฏิเสธเกลือแร่ ยืนยันดูแลตามมาตรฐาน

เมื่อถามว่า หลังจาก น.ส.เนติพรปฏิเสธ ทางแพทย์ได้ให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำไหม ผู้ตรวจราชการกรม กล่าวว่า โดยปกติเรามีการตรวจสภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าสามารถรับประทานอาหารเองได้ จะให้กินอาหาร ส่วนการให้สารอาหารทางน้ำและหลอดเลือด ปกติเราจะให้ในภาวะเสียน้ำอย่างรุนแรง เหมือนคนท้องเสีย หรือคนที่อยู่ในภาวะของสารน้ำที่ไม่พอ เพราะสารน้ำที่ให้ทางเลือดก็คือน้ำเกลือ ไม่ได้มีสารอาหารเช่นโปรตีน หรืออะไรอยู่ในนั้น