สตูลสำรวจถ้ำค้อมพบกระดูกมนุษย์ยุคหินอายุกว่า 5 พันปี

สตูลสำรวจถ้ำค้อมพบกระดูกมนุษย์ยุคหินอายุกว่า 5 พันปี

View icon 78
วันที่ 16 พ.ค. 2567 | 11.36 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สตูลสำรวจถ้ำค้อม ถ้ำที่สวยงามและมีเรื่องเล่า พบกระดูกมนุษย์ยุคหิน ชิ้นส่วนเครื่องใช้โบราณ อายุกว่า 5 พันปี ประสานกรมศิลป์ฯ ขุดสำรวจเต็มรูปแบบ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว

วันนี้ (16 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณภูเขาหลังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล ซึ่งติดกับถ้ำเขาค้อม หมู่ที่ 10  ต.ควนกาหลง  อ.ควนกาหลง จ.สตูล นายนาทชัย เถื่อนทิม อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล นายกำพลศักดิ์ สัสดี นักสำรวจถ้ำ นายราเชนทร์ เบ็ญโกบ ชาวบ้านชุมชนควนกาหลง นายไพรัช  สุขงาม ผอ.ททท.สำนักงานสตูล นำสื่อมวลชนเข้าสำรวจถ้ำป่าเขาค้อม ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นถ้ำที่สวยงามและมีเรื่องเล่า

นักสำรวจถ้ำ บอกว่า หลังขออนุญาตเจ้าของพื้นที่เข้าสำรวจถ้ำหลายครั้ง พบว่า เขาค้อมเป็นเขาลูกใหญ่ ลักษณะเขาหินปูนผสมป่าดงดิบ มีถ้ำที่เชิงเขา เบื้องต้นพบเป็นถ้ำระบบแห้งประมาณ 500 เมตร และลึกเข้าไป 1 กิโลเมตรจะเป็นถ้ำลำธาร  ที่ยังไม่รู้ว่าลึกแค่ไหน และยังพบว่าที่โซนปากถ้ำมีร่องรอยการอาศัยของยุคมนุษย์ คาดว่าเป็นมนุษย์ยุคหิน โดยพบเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคมนุษย์หิน โดยพบชิ้นส่วนของกระดูกมนุษย์ (กระดูกหน้าแข้ง ,กระดูกสันหลัง,เศษกะโหลกไม่น้อยกว่า 10 ชิ้น ) และชิ้นส่วนฟันกรามล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมทั้งเปลือกหอยจำนวนมาก ที่ทับถมปะปนกัน เชื่อได้ว่าตรงจุดที่พบน่าจะเป็นสุสานเพราะยิ่งขุดดูยิ่งพบเศษชิ้นส่วนมนุษย์  ที่เชื่อว่ามีไม่น้อยกว่า 10 ชีวิตที่นำร่างมาฝั่งตรงนี้

เบื้องต้นได้แจ้งไปที่กรมศิลปากร เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการอีกครั้ง ซึ่งร่องรอยการพบชิ้นส่วนทั้งหมดนี้ได้ส่งตัวอย่างไปเปรียบเทียบทางโบราณคดีมีการยืนยันแล้วว่าใกล้เคียงกับยุคมนุษย์หิน เป็นฟันกรามของมนุษย์ยุคหินจริง ๆ อายุน่าจะเกิน 5,000 ถึง 10,000  ปี ซึ่งหลังจากนี้ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูลคงจะมีการประสานไปทางกรมศิลปากรให้เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการขุดค้นการดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากนี้จะกันพื้นที่เพื่อไม่ให้มีการเข้าไปเหยียบย่ำ หรือขุดทำลาย 

สำหรับพื้นที่ตรงจุดนี้ปกติแล้วทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูลจัดการพื้นที่เป็นแหล่งน้ำใช้ภายในชุมชน ปกติไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ชุมชนจะใช้น้ำจากแหล่งตรงนี้ แต่หากมีการค้นพบและสามารถเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวก็คงจะต้องมีการผลักดันต่อไป