รมว.ยุติธรรม แจง ยื้อชีวิต บุ้ง ทะลุวัง เต็มที่ ยันผลชันสูตรราชทัณฑ์ไม่ยุ่ง เผย ตะวัน อยากไปร่วมงานศพ

รมว.ยุติธรรม แจง ยื้อชีวิต บุ้ง ทะลุวัง เต็มที่ ยันผลชันสูตรราชทัณฑ์ไม่ยุ่ง เผย ตะวัน อยากไปร่วมงานศพ

View icon 223
วันที่ 17 พ.ค. 2567 | 16.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ยื้อเต็มที่ ยธ. แจง ช่วยชีวิต บุ้ง ทะลุวัง สุดความสามารถ ยัน CPR ต่อเนื่อง ไม่ได้ส่งตัวช้า มั่นใจผลชันสูตรราชทัณฑ์ไม่ยุ่ง เผย ตะวัน อยากไปร่วมงานศพ ต้องร้องต่อศาล แจงปมโดนโยงทักษิณ ใช้มาตรฐานเดียวกัน

ความคืบหน้าการชันสูตรศพ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง วันนี้ (17 พ.ค.67) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การชันสูตรผู้เสียชีวิตที่อยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง มาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน  30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อสาเหตุการเสียชีวิต จากนั้นศาลจะไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาสอบถามข้อสงสัย หรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างสาเหตุการตายตามข้อสงสัยได้ จึงขอให้ครอบครัวมีความมั่นใจ กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่มีกรมราชทัณฑ์เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลให้ โดยตนไม่อยากกล่าวอะไรที่เป็นการชี้นำ

ส่วนลำดับเหตุการณ์ขณะเสียชีวิตนั้น กรมราชทัณฑ์กำลังดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่อชี้แจงทั้งหมด โดยเบื้องต้นทราบว่ามีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน  และตนดูกล้องวงจรปิดแล้วมีบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ไว้ทั้งหมด รวมถึงเหตุการณ์ย้อนไปหลายวัน มีภาพบุ้งกินอาหารขณะอยู่ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยเริ่มกลับมากินข้าวตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. จนถึงวันที่เสียชีวิต  มีรายการจัดส่งอาหาร 3 มื้อที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมด ช่วงแรกกินข้าวต้ม ไข่เจียว อาหารอ่อน ส่วนวันก่อนเกิดเหตุ มีภาพกินอาหาร โดยน.ส.ทานตะวันบอก เป็นเมนูแกงเขียวหวาน แต่ในวันเสียชีวิตยังไม่ถึงเวลาอาหาร  ทั้งนี้ หากไม่ผิดระเบียบจะให้ราชทัณฑ์พาสื่อไปดู รพ.ราชทัณฑ์

รมว.ยุติธรรม ยืนยัน กรณีของน.ส.เนติพร มีเอกสารหลักฐานจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ส่งตัวกลับมาคุมขังที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลายฉบับ ราชทัณฑ์จึงได้รับตัวกลับมา ซึ่งราชทัณฑ์ไม่เคยรับกลับ ถ้าไม่ได้รับการร้องขอ ยืนยันว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่รพ.ราชทัณฑ์มีแต่ความเสียใจ และผูกพันกับ น.ส.เนติพร และ น.ส.ทานตะวัน เพราะดูแลกันมา ส่วนการเยียวยาจะดูตามกฎหมายในเรื่องมนุษยธรรม ทั้งนี้ จากการเข้าเยี่ยม น.ส.ทานตะวัน ผู้ต้องขังขอไปร่วมงานศพ น.ส.เนติพร แต่กรมราชทัณฑ์ไม่มีอำนาจอนุญาตได้ เพราะ น.ส.ทานตะวัน ยังไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ต้องร้องขอต่อศาล

ส่วนกรณีที่สังคมมองว่าจะเป็นการดูแลสองมาตรฐาน เมื่อเปรียบเทียบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันมีมาตรฐานเดียว กรณีของ น.ส.เนติพร ถ้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ไม่ทำหนังสือส่งตัวมา เราก็ให้อยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ต่อไป ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี

ด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ตนได้รับรายงานว่าวันเกิดเหตุ น.ส.เนติพร และน.ส.ทานตะวัน ตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. มีการพูดคุยกัน จากนั้น น.ส.ทานตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถาม น.ส.เนติพรที่ยังนอนอยู่บนเตียงว่า ยังปวดท้องอยู่หรือไม่ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจร่างกายตามปกติทุกวันทั้ง โดยเป็นการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ ซึ่งก็ปกติ เมื่อตรวจน.ส.เนติพรเสร็จก็มาตรวจน.ส.ทานตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือ 06.00 น. น.ส.เนติพร ได้ลุกขึ้นนั่ง และมีอาการวูบ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ 4 คน จึงยก น.ส.เนติพร ทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำ CPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคส ฉีดอะดรีนาลีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำ CPR ตลอดเวลาต่อเนื่อง จนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจร แต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11:00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า เสียชีวิตอย่างสงบ

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า น.ส.เนติพร เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้น นายสหการณ์ กล่าวว่าจะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยเป็นช่วงยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว ยืนยันไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุได้เร่งประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ทันที แต่มีขั้นตอนติดเครื่องสัญญานต่างๆทางการแพทย์ซึ่งต้องใช้เวลา และภายหลังได้สอบถามแพทย์โรงพยาบาลอื่นก็ยืนยันเป็นตามมาตรฐาน  เหตุการณ์เกิดขึ้นฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย  บุ้งเป็นผู้ต้องขังพักฟื้น  เหตุที่เกิดขึ้น เป็นเหตุฉุกเฉิน

ส่วนกรณีทนายความของ น.ส.เนติพร ระบุว่าราชทัณฑ์ไม่ให้ข้อมูลนั้น ราชทัณฑ์พร้อมให้ข้อมูล แต่กฏหมายต้องให้พ่อแม่เป็นผู้ขอเท่านั้น สำหรับผลชันสูตรยังไม่ได้ หากรู้ผล จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า กรณีผู้ต้องขังมีการอดอาหารและน้ำ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการโน้มน้าวก่อน และบอกถึงผลเสียต่อสุขภาพหากอดอาหาร ยืนยันว่าตอนที่ รพ.ธรรมศาสตร์ มีการส่งตัว น.ส.เนติพร และ น.ส.ทานตะวันกลับมารักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ทั้งคู่อยู่ในสภาวะพักฟื้นไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงต้องเป็นการรักษาตามอาการ และมีการจัดอาหารให้ สำคัญคือแพทย์ไม่มีสิทธิไปบังคับด้วยการกินหรือให้สารอาหารทางหลอดเลือด ตามที่มีการกำหนดสำหรับแพทยสมาคมโลก (WMA) หากผู้ป่วยไม่ยินยอม ไปทำก็ถือเป็นการทำลายคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราก็มีหน้าที่ประคับประคองดูแล หากเกิดเหตุฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ ส่วนที่ส่งรพ.ธรรมศาสตร์ ไม่ได้ส่งรพ.ที่ใกล้กว่า เพราะ น.ส.เนติพรมีประวัติรักษาต่อเนื่องที่รพ.ธรรมศาสตร์ และก็ไม่ได้ไกลกว่ารพ.อื่น

สำหรับค่ำวันนี้  รมว.ยธ.จะเดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพ น.ส.เนติพรหรือไม่นั้น พ.ต.ท.ทวี กล่าวว่า ดูๆ ก่อน