ศาล รธน. รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่ง เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่

View icon 77
วันที่ 23 พ.ค. 2567 | 16.33 น.
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากรับคำร้องของ 40 สว. ปมนายกฯ เศรษฐา ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

ศาล รธน. รับคำร้อง 40 สว. แต่ไม่สั่ง เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่
วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว. 40 คน ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

จากกรณีที่ นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องของ 40 สว. แต่ว่ามีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ นายเศรษฐา ยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับสำเนาคำร้อง

เปิดชื่อเสียงข้างมาก รับคำร้อง 40 สว.
โดยในมติที่รับคำร้องของ 40 สว. นั้น ตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียง ที่มีคำสั่งรับคำร้อง 40 สว. ไว้พิจารณา ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียง คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

เปิดชื่อมติ 5 ต่อ 4 เศรษฐา ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ส่วนมติที่ให้ นายเศรษฐา ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 5 ต่อ 4 เสียง ซึ่งถือว่าฉิวเฉียดนั้น ตุลาการเสียงข้างมากประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายอุดม รัฐอมฤต, นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ซึ่ง 3 ท่านนี้ เป็นเสียงข้างน้อยที่มีคำสั่งไม่รับคำร้องของ 40 สว. อยู่แล้ว ส่วนที่เพิ่มมาอีก 2 ท่าน คือ นายนภดล เทพพิทักษ์, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ รวมเป็น 5 เสียง

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย ก็เป็นตุลาการที่มีคำสั่งให้รับคำร้องของ 40 สว. อยู่แล้ว ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์

ไม่รับคำร้อง พิชิต เหตุลาออกแล้ว
ส่วนกรณีของ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปก่อนแล้วนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของ นายพิชิต สิ้นสิ้นลงแล้ว จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

เศรษฐา น้อมรับมติศาล รธน. เตรียมทำคำชี้แจง
ส่วน นายกฯ เศรษฐา ตอนนี้อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม ในการเข้าร่วมประชุมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29

หลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญ นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า น้อมรับมติศาลรัฐธรรมนูญ แต่รายละเอียดยังไม่ได้ดู ในช่วงบ่าย ถ้ามีเวลาจะโทรศัพท์ไปหารือกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายว่า จะต้องเตรียมข้อมูลรายละเอียดชี้แจงต่อศาลมีอะไรบ้าง ยืนยันว่าเมื่อเข้ามาทำงานทางการเมือง ก็ต้องพร้อมรับการตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตนไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะไม่อยากกดดันศาล

ตนเข้ามาทำงานอยู่ตรงนี้ และอายุเท่านี้แล้ว รู้ตัวว่าต้องทำอะไร ส่วนผู้ที่สนับสนุนตนและรัฐบาลนั้น อยากให้ทราบว่า ตนตั้งใจทำงานแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อยากบอกว่าตนมีความตั้งใจในเรื่องนี้มาก แม้จะมีมติศาลออกมาระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่างประเทศ ตนมั่นใจว่าสามารถแยกแยะได้ ไม่ต้องห่วง

สมชัย ชี้ยังน่ากังวลต่อ เศรษฐา แม้ศาล รธน. ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
มีมุมมองจากอดีต กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า การให้หยุด หรือ ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เสียงฉิวเฉียด 5 ต่อ 4 ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นเสียงตุลาการท่านเดิม 3 เสียงที่ไม่รับคำร้อง เมื่อไม่รับก็ไม่ต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่เพิ่มมาอีก 2 เสียง ซึ่งถ้าดูชื่อของตุลาการอีก 2 ท่าน ที่เพิ่มเข้ามา จะเป็นสายทางรัฐศาสตร์ ท่านหนึ่งเคยเป็นทูตมาก่อน อีกท่านเคยเป็นศาลปกครอง เข้าใจว่า คงเห็นว่า ขณะนี้นายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ถ้าศาลไปมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จะเสียหายมาก

อาจารย์สมชัย วิเคราะห์ด้วยว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่สั่งให้นายกฯ เศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังน่ากังวล มีโอกาสเป็นได้ 2 ทาง ผิด หรือ ไม่ผิด แต่มีตุลาการรับคำร้องถึง 6 เสียง ตุลาการ อาจมองว่ามีปัญหาอยู่ จึงรับคำร้องเข้าไป

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณี ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี นายพิชิต เนื่องจากลาออกไปแล้ว ต้องตั้งคำถามว่าการลาออกมันเป็นเหตุผลของการยุติเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าขาดคุณสมบัติต้องขาดตั้งแต่แรก และต้องเพิกถอนการเป็น สส. ตั้งแต่วันแรก และเรียกเงินเดือนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ  ตั้งแต่วันแรกคืนหลวงด้วย