คอลัมน์หมายเลข 7 : พิษกองทุนหมู่บ้าน! เบี้ยวหนี้ ทุจริตระดับชุมชน

View icon 106
วันที่ 26 พ.ค. 2567 | 16.15 น.
เจาะประเด็นข่าว 7HD
แชร์
เจาะประเด็นข่าว 7HD - คนเบี้ยวหนี้ ทำให้คนอื่นหมดตัว สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในกองทุนหมู่บ้าน ถ้าไม่มีการโกง เป็นอย่างไร ไปติดตามกับ คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ในคอลัมน์หมายเลข 7

น้ำเสียงสุดช้ำของ "นางวาสนา สมพงษ์" อายุ 58 ปี อดีตคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บ้านหนองเรือ หมู่ 6 ตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ระบายอย่างหมดหนทางสู้ หลังต้องชดใช้หนี้กองทุนหมู่บ้านที่กู้มาจากธนาคารออมสิน ยอดรวม 3.7 ล้านบาท แทนสมาชิกและคณะกรรมการที่เบี้ยวหนี้

คอลัมน์หมายเลข 7 ตรวจสอบข้อมูลพบว่า กองทุนหมู่บ้าน บ้านหนองเรือ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 โดยได้รับเงินจัดสรรจากสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวม 2.3 ล้านบาท มีสมาชิก 68 คน จาก 68 ครัวเรือน

เท่ากับว่า หากถัวเฉลี่ยแล้ว สมาชิกแต่ละคนจะกู้เงินได้คนละ 33,823 บาท จากเงินก้อนนี้ ซึ่งถูกจัดอยู่บัญชีที่ 1 และที่ผ่านมา ไม่พบปัญหา รวมถึงบัญชีที่ 2 ซึ่งเป็นเงินสัจจะสะสมของสมาชิก

ทว่า ปัญหากลับมาจากบัญชีที่ 3 ที่เป็นเงินกู้ยืมจากธนาคาร จนทำให้นางวาสนาต้องมาชดใช้หนี้แทน โดยหนี้ก้อนนี้เป็นไปตามสัญญาเมื่อมีนาคม 2562

นางวาสนา เป็น 1 ใน 9 คณะกรรมการที่ต้องไปค้ำประกันสัญญา เพื่อกู้เงินมาปล่อยกู้ให้สมาชิกในกองทุนอีกต่อหนึ่ง

เมื่อเกิดเหตุเบี้ยวหนี้ของสมาชิก ทำให้ธนาคารออมสินทำสัญญาประนีประนอมกับคณะกรรมการ 9 คน เมื่อพฤศจิกายน 2564 โดยตกลงชำระคืน 5 งวด ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2568

ปรากฏว่า ระหว่างนั้น คณะกรรมการกลับผิดนัดชำระ จนธนาคารสืบทรัพย์ และพบว่า ในคณะกรรมการ 9 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้น ที่มีสินทรัพย์ หนึ่งในนั้นคือ นางวาสนา ทำให้ถูกประกาศขายทอดตลาดเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ

แม้ปัจจุบัน จะมีการงดบังคับคดีไปจนถึง 8 สิงหาคม 2567 และทุกภาคส่วนเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อหาทางออกแล้ว แต่ในแง่ความมั่นคงในอนาคตของกองทุนหมู่บ้าน จำเป็นหรือไม่ต้องสร้างกลไกการตรวจสอบ ระหว่างคณะกรรมการกับธนาคาร และคณะกรรมการกับสมาชิก 

ปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ยอมรับ ขาดการสอบทานที่เข้มข้น การอุดรอยรั่วได้ จึงต้องพัฒนาระบบงาน ขืนล่าช้า รู้อีกทีปลายเหตุแล้ว โอกาสแก้ไขคงยาก