พิธาเปิดข้อสู้คดียุบพรรค เชื่อศาล รธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย

พิธาเปิดข้อสู้คดียุบพรรค เชื่อศาล รธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย

View icon 1.7K
วันที่ 9 มิ.ย. 2567 | 15.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เปิด 9 ข้อต่อสู้ คดียุบพรรค พิธาย้ำไม่เคยคิดล้มล้างการปกครอง เชื่อศาล รธน. ไม่มีอำนาจวินิจฉ้ย ยุบก้าวไกลต่างจากยุบ “อนาคตใหม่-ไทยรักษาชาติ” การรักษาพรรคการเมือง ไม่น่าจะถึงยุบพรรค ตักเตือนน่าจะเพียงพอแล้ว

วันนี้ (9 มิ.ย.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิด 9 ข้อต่อสู้ คดียุบพรรคพรรคก้าวไกล โดยมั่นใจว่าจะใช้ทั้ง 9 ข้อ เป็นบันไดในการต่อสู้ ตั้งแต่ขอบเขตอำนาจของศาล ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ กก.บห. และเชื่อเจตนาในการเข้าชื่อของ 44 สส. ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นนายประกัน ส่วนการที่มีผู้ต้องหาคดี ม.112 เป็นสมาชิกพรรค คดีก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด การแสดงออกเกี่ยวกับการแก้ไข ม.112 หรือการกระทำเป็นเรื่องของบุคคล เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ไม่ได้มาจากมติพรรค ศาลไม่มีความเร่งด่วนที่จะต้องใช้มาตรการยุบพรรค เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเฉพาะ 3 ข้อ เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นกฎหมายรอง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดีนี้

นายพิธา ระบุเพิ่มเติมว่า คดีพรรคก้าวไกล ต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และพรรคไทยรักษาชาติ เพราะ กกต. ยื่นยุบพรรคตาม ม.92 แต่หากเป็นไปตามครรลองทางกฎหมายจะต้องประกอบกับ ม.93 ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการ กกต.ที่เกี่ยวข้องได้มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อ ก.พ. 2567 โดยการยุบพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ไม่มีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ตนเคารพในดุลพินิจของศาล ไม่ขอก้าวล่วง หากศาลเห็นด้วยว่า คดีเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 67 กับคดีนี้ต่างกัน ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ซึ่งพรรคก้าวไกล เตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้ไต่สวน มากกว่า 10 คน แต่หากถูกยุบ ก็มีการเตรียมตัวไว้ทุกสถานการณ์ เชื่อว่าไม่มีใครพูดได้ ว่าจะยุบหรือไม่ เพราะยุบ 2 พรรค ใน 5 ปี ยุบ 5 ครั้ง ในรอบ 20 ปี ไม่กล้าเดาหรือคิด ว่าจะกระทบอะไรกับการเมืองและความเชื่อมั่นในประเทศ

“การรักษาพรรคการเมือง ไม่น่าจะถึงยุบพรรค ตักเตือนน่าจะเพียงพอแล้ว ควรเอาการยุบพรรคมาใช้ในกรณีสุดท้าย ยืนยันสมาชิกพรรคยังเหนียวแน่น เป็นเอกภาพ ปึกแผ่น เป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% แต่ก็ไม่ประมาท ตนรู้ทัน ไม่ได้ไร้เดียงสา ที่จะไม่รู้ว่ามีคนอยากได้ สส. ไปต่อรองการเมือง แต่เชื่อมั่นในระบบและอุดมการณ์ของ สส.พรรคทุกคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือยุบพรรค จะร้องต่อศาลปกครองหรือไม่  นายพิธา ระบุว่า ทีมกฎหมายได้พูดคุยเรื่องนี้แล้ว แต่ตนเองยังไม่ทราบรายละเอียด ขอใช้เวลาศึกษาก่อน

สำหรับ 9 ข้อต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล มีดังนี้
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้ ตามมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญ
2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ตามมาตรา 92 ประกอบมาตรา 93
3. คำวินิจฉัยคดีก่อนเมื่อ 31  มกราคม 2567 ไม่ผูกผันการวินิจฉัยคดีนี้
4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
5. การกระทำตามคำวินิจฉัยในคดีเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค
6. โทษยุบพรรค ต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ ตัดสิทธิ กก.บห.
8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9. การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้อง กับ กก.บห. ในช่วงที่ถูกกล่าวหา