นายกฯ สั่งตั้ง ศปภ.ดูแลน้ำท่วม

View icon 39
วันที่ 16 ก.ย. 2567 | 07.13 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - บ่ายวันนี้ นายกรัฐมนตรี นัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ และกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคเหนือและอีสาน ขณะที่ สทนช. ตั้งศูนย์ส่วนหน้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมลุ่มน้ำภาคกลางแล้ว

นายกฯ สั่งตั้ง ศปภ.ดูแลน้ำท่วม
ทันทีที่นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ก็ได้นัดประชุมหารือเป็นนัดแรกในช่วงบ่ายวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากร ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ

ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลืออุทกภัยที่จัดตั้งขึ้นนี้ จะมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ส่วนรองประธานกรรมการ ประกอบไปด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สทนช.ตั้งศูนย์ฯ ติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำภาคกลาง
ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ตั้งศูนย์ส่วนหน้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมลุ่มน้ำภาคกลางแล้วเช่นกัน หลังประเมินสถานการณ์แล้วว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ในฐานะประธานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เตรียมนัดประชุมรับมือ ติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน หวังบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

มท.1 ประชุมด่วนประเมินสถานการณ์น้ำ 
นายอนุทิน​ ชาญ​วี​ร​กูล​ รอง​นายก​รัฐมนตรี และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธานกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ย้ำกับทุกหน่วยงานว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนกับประชาชน

ด้านงบประมาณ หากไม่พอ กระทรวงมหาดไทยจะขยายวงเงินเพิ่ม อย่าให้สะดุด ยืนยันว่า รัฐบาลจะบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ลุ้นลดค่าไฟฟ้า-น้ำประปา แบ่งเบาภาระหลังน้ำท่วม
วันนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนภูมิภาค จะประชุมเพื่อพิจารณากำหนดลดอัตรา ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยให้คณะกรรมการเร่งพิจารณาทันที

ตามระเบียบกระทรวงการคลัง การเยียวยา ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมด้วย เช่น ค่าอาหาร วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกินคนละ 50 บาท, ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว, ค่าน้ำดื่มและน้ำใช้

กรณีบ้านพังทั้งหลังตามจ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท แต่จะมีค่าวัสดุซ่อมแซมบ้านให้อีก หลังละไม่เกิน 49,500 บาท, มีค่าซ่อมแซมหรือสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ อีกไม่เกิน 5,700 บาท เครื่องมือประกอบอาชีพเสียหาย จ่ายตามจริงไม่เกิน 11,400 บาท ส่วนพื้นที่การเกษตรชดเชยตามความเสียหายไม่เกิน 30 ไร่

สำหรับงบประมาณที่ใช้เยียวยา มาจากงบกลางปี 2567 ราว 7,600 ล้านบาท ที่อนุมัติไว้ตั้งแต่รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อใช้รับมือกับน้ำท่วม น้ำแล้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง