วิกฤตสุขภาพจิต หลังเผชิญน้ำท่วม

View icon 43
วันที่ 18 ก.ย. 2567 | 06.18 น.
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - อุทกภัยในครั้งนี้ ไม่ได้พัดพาไปเพียงทรัพย์สิน แต่พัดพาสภาพจิตของใครหลาย ๆ คน ไปด้วย กรมสุขภาพจิต พร้อมปฏิบัติการเชิงรุกเยียวยาจิตใจหลังน้ำลด

กรมสุขภาพจิต วางแผนการเข้าเยียวยาจิตใจ ที่ศูนย์พักพิง ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย และที่อำเภอแม่สาย แบ่งแผนการเยียวยาออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ตั้งทีมพร้อมปฏิบัติการ 7 ทีม เยียวยาจิตใจ และดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น

ระยะที่ 2 ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน จะส่งเจ้าหน้าที่สำรวจภาวะของความเครียดของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือน และสูญเสียที่ดินทำกิน ระยะที่ 2 นี้จะเฝ้าระวังกลุ่มที่ยังไม่ป่วยมาก แค่มีความเสี่ยง

ระยะที่ 3 หลังได้รับผลกระทบ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน จะเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ที่มีภาวะซึมเศร้า ทำร้ายตนเอง และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเดิม ไม่ให้ขาดยา และขาดการรักษาไปเยี่ยมบ้าน พร้อมทั้งส่งต่อเคสสีแดงหรือสีส้มเข้าสู่ระบบการรักษา และระยะสุดท้าย คือระยะฟื้นฟู ติดตามเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย

ผลสำรวจผู้ประสบภัย ในช่วงวันที่ 16 สิงหาคม ถึง 15 กันยายน อยู่ที่ 23,212 คน พบว่ามีภาวะเครียดสูง จำนวน 548 คน, เสี่ยงซึมเศร้า จำนวน 81 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 13 คน

นอกจากเรื่องจิตใจ ก็มีการดูแลสภาพร่างกายภายนอก เนื่องจากหลายคนประสบปัญหาเท้าเปื่อย น้ำกัดเท้า จึงสนับสนุนชุดยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 8,472 ชุด ส่งไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาอุทกภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง