บก.ลายจุดอธิบายสถานการณ์แม่สาย ถุงยังชีพเกินจำเป็นแล้ว

บก.ลายจุดอธิบายสถานการณ์แม่สาย ถุงยังชีพเกินจำเป็นแล้ว

View icon 24
วันที่ 24 ก.ย. 2567 | 15.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
บก.ลายจุด อธิบายสถานการณ์แม่สาย ถุงยังชีพเกินจำเป็นแล้ว เสื้อผ้ามือสองเกินครึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะกับการบริจาค แม่สายไม่ได้ขาดข้าวกล่อง กำลังผลิต 3 หน่วยงาน แตะ 2 หมื่นกล่องต่อวัน แต่ขาดระบบบริหารจัดการข้าวกล่อง

วันนี้ (24 ก.ย.67) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ขอให้หยุดส่งเสื้อผ้าและข้าวสารอาหารแห้งขึ้นมาที่ จ.เชียงราย สิ่งของในหมวดถุงยังชีพน่าจะเกินความต้องการไปมากแล้ว องค์กรที่มีโกดังและกำลังพลรับมือรับไม่ไหวแล้ว

ข้อเสนอเรื่อง “เสื้อผ้ามือสอง” เวลาเอาไปแจกจะต้องคัดแยกก่อน เสื้อผ้าบริจาคเกินครึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะกับการบริจาค กระบวนการนี้มีขั้นตอนและกลายเป็นภาระของคนหน้างานที่กำลังเผชิญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วน “น้ำดื่ม” ควรจัดซื้อในพื้นที่ มีขีดความสามารถเหลือเฟือ ลดค่าการจัดการและขนส่งได้เยอะ ให้การจัดส่งส่วนใหญ่เป็นของที่จำเป็นและในพื้นที่หาไม่ได้

ณ เวลานี้ วันที่ 24 กย 67 สิ่งที่จำเป็นคือ
- กระสอบพลาสติกมือสอง (เก็บขยะน้ำท่วมและดินโคลนในบ้าน) พลั่ว จอบ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านทุกชนิด หม้อหุงข้าว กาน้ำร้อน กระทะไฟฟ้า ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครือ่งซักผ้า
- ที่นอน หมอน ผ้าห่ม
- ประตู หน้าต่าง เพราะบวมน้ำพังหมด ในพื้นที่น่าจะหลายหมื่นบาน คนไม่ค่อยพูดถึง
- ปลั๊กไฟ เบรกเกอร์

นายสมบัติ ระบุถึงเรื่องข้าวกล่อง โดยขออธิบายสถานการณ์ ว่า ตอนนี้หน่วยงานที่ผลิตข้าวกล่องที่มีศักยภาพสูงสุดที่แม่สายคือ มูลนิธิเพชรเกษม เขาเป็นมืออาชีพเรื่องนี้ และขึ้นมาพื้นที่ตั้งแต่ต้น ทุกวันนี้ยังทำหน้าที่นี้อยู่ ขีดความสามารถของมูลนิธิเพชรเกษมอยู่ที่ 12,000 กล่องต่อวัน เขามีรถแช่เย็น โรงผลิตข้าวกล่อง บุคคลากร ที่สมบูรณ์แบบ นอกจากมูลนิธิเพชรเกษมแล้ว ยังมีสภากาชาดไทยและมูลนิธิพึ่ง (ภา) ยามยาก ที่ผลิตข้าวกล่องในพื้นที่แม่สาย ถ้ารวมกัน 3 หน่วยงานทำได้วันละประมาณ 2 หมื่นกล่อง และต้องให้เครดิต CPF ที่สนับสนุนวัตถุดิบในการทำอาหารให้กับหน่วยงานเหล่านี้

นายสมบัติ ระบุด้วยว่า ปัญหาเรื่องข้าวกล่องไม่ได้อยู่ที่การผลิต แต่อยู่ตรงที่การบริหารจัดการด้านการรวมความต้องการและการจัดส่ง ซึ่งไม่มีใครทำเป็นตัวกลางตรงนี้ แต่อาจมีทีมย่อยที่รู้ว่าหน่วยงานของตนเองที่ทำงานในพื้นที่ต้องการข้าวจำนวนกี่กล่อง และประสานกับมูลนิธิเพชรเกษมเพื่อรับข้าวกล่องแล้วมาจัดการเองเฉพาะในกลุ่ม

คำถามคือกรณีชาวบ้านที่ยังไม่สามารถฟื้นครัวที่บ้านได้ แล้วมีความต้องการจะมีใครเป็นตัวแทนในแต่ละชุมชน เพื่อไปรับข้าวกล่องมากระจ่ายกันเองในพื้นที่ หรือจะมีหน่วยงานไหนไปกระจายให้ถึงมือประชาชน สถานการณ์ตอนนี้ที่แม่สายจึงไม่ใช่การขาดข้าวกล่องแต่เป็นการขาดระบบการบริหารจัดการข้าวกล่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง