รายงานพิเศษ : แพะ คดียาเสพติด เริ่มใช้ชีวิตใหม่วันแรก

View icon 53
วันที่ 26 ม.ค. 2566 | 07.14 น.
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - การใช้ชีวิตของ นายวีรโชติ หลังพ้นทุกข์ เพราะติดคุกในเรือนจำมานานกว่า 2 ปี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กระทำผิดในคดียาเสพติด ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวานนี้ เราจะไปลงสนามข่าวติดตามดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขากับ คุณพิธพงษ์ จตุรพิธพร

นายวีรโชติ ผู้ต้องหาคดีครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ที่ถูกตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ดำเนินคดีเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 และถูกจับกุมตัว หลังนำหลักฐานไปแสดงความบริสุทธิ์กับพนักงานอัยการ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเมื่อวานนี้ ตามที่ศาลอาญาพิพากษาว่าไม่มีความผิด สั่งยกฟ้อง ได้กลับไปเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่อีกครั้งกับครอบครัว

ผมและทีมสนามข่าว 7 สี ได้ลงพื้นที่ตามไปที่บ้านเช่า ย่านอรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านครึ่งไม้ ครึ่งปูน 2 ชั้น บ้านหลังนี้ นายวีรโชติ และแม่ อาศัยอยู่ด้วยกัน 2 คน ส่วนพี่น้องก็อาศัยอยู่ห่างออกไปไม่มาก

แม่ของนายวีรโชติ ยอมรับว่า หลังจากที่ลูกชายติดคุก ต้องใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง มีลูก ๆ นำข้าวมาส่งให้ในเวลากลางวัน และส่งเงินมาให้ใช้จ่ายเป็นรายเดือน บางวันเงินไม่พอใช้ก็ต้องไปเซ็นเชื่อกับร้านขายของชำที่อยู่หน้าปากซอย ที่ผ่านมาเคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนต้องแอบรำพึงรำพันร้องไห้เองคนเดียวอยู่บ่อย ๆ

ห้องนอนห้องนี้เคยเป็นห้องที่ นายวีรโชติ อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกสาวอย่างมีความสุข แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นห้องร้าง มีเพียงภาพถ่ายแห่งความทรงจำของ 3 คน พ่อ แม่ ลูก เก็บเป็นที่ระลึก คืนแรกหลังจากกลับมาที่บ้าน ยอมรับว่าดีใจที่ได้กลับมานอนบนที่นอนนุ่ม ๆ ซึ่งแตกต่างกับตอนที่อยู่ในเรือนจำคนละเรื่อง จากนั้นได้พาเราไปดูห้องเก็บอัฐิของคุณป้าที่เคยเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็ก และรูปภาพของพ่อซึ่งเสียชีวิตไประหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งนับเป็นผู้มีพระคุณที่ต้องจากไปโดยไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้

ทีมสนามข่าว 7 สี สอบถามเรื่องการเยียวยากับ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ข้อมูลว่า หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา ต้องดูก่อนว่าศาลมีคำพิพากษาอย่างไร หากผลทางคดีชี้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในคดีอาญา จะเข้าเงื่อนไขการได้รับการเยียวยาทันที

เกณฑ์การพิจารณาจะมีตั้งแต่ค่ารักษาพยาบาล, ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ, เงินเยียวยารายวันรวมกับค่าแรงขั้นต่ำ นับไปตามจำนวนวันที่ต้องติดคุกอยู่ในเรือนจำ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

การจับกุม "แพะ" รับโทษทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดในคดีอาญา นายวีรโชติ ไม่ใช่ผู้เสียหายคนแรก เพราะนับตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรมมีการเยียวยา "แพะ" แบบนี้ ไปแล้ว 2,567 ราย มอบเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 559 ล้านบาท แม้เงินเยียวยาจะพอปลอบชโลมความทุกข์ยากได้บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ เงินเยียวยาอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ครอบครัวนี้อยากได้